“ดร.สุชาติ” อดีต รมว.คลัง เสนอยกเลิกหนี้ กยศ.ให้นักเรียน-นักศึกษา เพื่อสร้างอนาคตของชาติ ชำแหละวิธีการให้ยืมทำผิดมาตลอด จากนั้นให้ กยศ.ให้เงินยืมไปที่เด็กโดยตรง
วันที่ 26 มิ.ย. 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่มีข่าว สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฟ้องเรียกเงินเพียง 17,000 บาท แล้วยึดบ้านกว่า 2 ล้านบาท ไปขายทอดตลาดนั้น
1. เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ระบบราชการทำลายอนาคตของเยาวชนและครอบครัว
2. นโยบายให้เยาวชนยืมเงินเรียน ก็เพื่อสร้างชีวิตและสร้างประเทศชาติ
3. แต่ระบบราชการมักเอาคนที่ไม่เข้าใจปรัชญา (ส่วนใหญ่มีนิสัยเป็นเจ้าขุนมูลนาย) มาบริหารจัดการ จึงทำลายอนาคตเยาวชน และทำลายเป้าหมายของนโยบาย
4. เงิน กยศ.ควรให้นักเรียน นักศึกษายืมโดยตรงไปเลือกที่เรียน (demand side) ไม่ใช่ให้เป็นโควต้าแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันที่ไปวิ่งมาได้ (supply side) อย่างปัจจุบัน
5. ทำให้มหาวิทยาลัย ไม่ต้องปรับปรุงการเรียนการสอน เปิดแต่วิชาง่ายๆ เมื่อเรียนจบไปจึงหางานยาก ไม่มีงานทำ ไม่สามารถหารายได้มาคืนหนี้
6. ผู้บริหารกองทุน กยศ. ก็ไม่เข้าใจปรัชญา เมื่อเข้ามาบริหารจึงฟ้องร้องเอาเงินคืนตลอดเวลา กลัวผิดระเบียบราชการ ทำให้พ่อแม่ยากจนหลายคน ไม่กล้าให้ลูกไปกู้ยืม และเด็กๆหลายคนจบมา แทนที่จะมีชีวิตที่ดี ต้องหลบๆซ่อนๆไม่กล้าไปทำงาน เพราะกลัวถูก กยศ.ฟ้อง
7. ควรยกเลิกหนี้คงค้าง กยศ.ให้หมด แล้วเริ่มต้นใหม่ เพราะ กยศ.ทำวิธีการผิดมาโดยตลอด คือ การให้เงินผ่านสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดการวิ่งเต้น แต่ไม่มีพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษาจึงแย่ เด็กๆจึงหางานได้ยาก
8. ให้เริ่มต้นโดยให้เงินยืมแบบใหม่ คือให้เงินไปที่เด็กโดยตรง ไม่ผ่านสถาบันการศึกษา เด็กสามารถเลือกวิชาเรียนและสถาบันได้เอง ย้ายที่เรียนได้ เงินจะตามตัวเด็กไป ก็จะทำให้เกิดการปรับปรุงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพราะไม่ปรับปรุงก็ไม่มีใครเรียน อยู่ไม่ได้
9. เด็กๆก็จะได้เลือกเรียนวิชาที่หลากหลายที่ชอบ ที่พึงพอใจ ที่ตลาดต้องการ เพราะเด็กเป็นผู้ถือเงิน เป็นผู้มีอำนาจเลือก คุณภาพการศึกษาก็จะดีขึ้น เรียนจบก็มีงานทำ มีเงินคืนรัฐบาล