ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีเอส เผยผลสำรวจประเมินความเสี่ยงกิจการ/กิจกรรมผ่าน “ไทยชนะ” พบ “ตลาด ห้าง ศูนย์การค้า” เป็นจุดเสี่ยงน่ากังวล หลังผลประเมิน “การ์ดตก” พร้อมกระตุ้นเตือนผู้ประกอบการจริงจังเข้มงวดการใช้ไทยชนะ ส่วน “ปทุมธานี” เป็นจังหวัดที่ประชาชนให้ความร่วมมือประเมินมากที่สุด
ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงความคืบหน้าการใช้งานแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” โดยกล่าวว่า ผลการประเมินของประชาชนที่เข้ารับบริการในกิจการ/กิจกรรม 24 กิจการ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในแต่ละด้าน ได้แก่ การทำความสะอาดร้านค้า สวมหน้ากาก จุดบริการล้างมือ การเว้นระยะห่าง พบว่า 5 กิจการ/กิจกรรมที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) คือ 1.ตลาด ตลาดนัด ตลาดค้าส่ง หาบเร่ แผงลอย มีคะแนนเฉลี่ย 4.86 คะแนน 2.ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ 4.91 คะแนน 3.การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 4.91 คะแนน 4.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า 4.91 คะแนน และ 5.ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4.92 คะแนน จะเห็นว่าคะแนนลดลงเมื่อเทียบการช่วงแรกของการผ่อนคลายมาตรการ จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ต้องตระหนักและปฏิบัติตามแนวทางที่ ศบค.กำหนด ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ การเว้นระยะห่าง การลดความแออัด และการลงทะเบียนเข้า-ออก ผ่านไทยชนะ เพราะเมื่อหย่อนยานลงไป การเปิดประเทศหรือผ่อนคลายในระยะต่อไปจะกลายเป็นข้อกังขาถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของประเทศไทยได้
นายแพทย์พลวรรธน์กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการใช้งานไทยชนะนั้น จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2563 มีผู้ใช้งานทั้งสิ้น 30,792,286 คน มีกิจการ/ร้านค้าลงทะเบียน 230,768 ร้าน สัดส่วนการเช็คอิน/เช็คเอาท์ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะร้อยละ 55.6 ผ่านแอปพลิเคชันร้อยละ 86.7 โดยมีผู้ดาวน์โหลดใช้งาน 424,077 คน สำหรับ 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนการประเมินกิจการ/กิจกรรมสูงสุดพบว่า จังหวัดปทุมธานีมีผู้ประเมินร้อยละ 79, นครปฐม ร้อยละ 76, กรุงเทพฯร้อยละ 76, นนทบุรีร้อยละ 75 และชลบุรีร้อยละ 74 ทั้งนี้ การร่วมกันประเมินร้านค้าและกิจกรรมจากประชาชน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกันตรวจสอบอย่างเข้มข้นในมาตรการที่กำหนดไว้ เป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันป้องกันการแพร่กระจายของโควิด 19
“สำหรับการผ่อนคลายในระยะที่ 5 นั้น จะมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง จึงขอยืนยันว่าการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันไทยชนะยิ่งมีความจำเป็น เพราะเมื่อเกิดการระบาดจะช่วยในการติดตามควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี โดยจะติดต่อตรงส่วนตัวไปยังผู้ที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ที่พบการระบาด ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ย้ำว่าข้อมูลใช้เพื่อการควบคุมการระบาดของโควิด 19 เท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่องข้อความสแปมไปยังโทรศัพท์ของผู้ใช้งานระบบ iOS ขณะนี้ ได้ประสานเจ้าของระบบดำเนินการแก้ไขแล้ว และอยู่ระหว่างติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขต่อไป” นายแพทย์พลวรรธน์กล่าว
ที่มา..กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ