บิ๊กท้อป… ลงพื้นที่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม ติดตามการเปิดอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรการผ่อนปรน การแจกกล้าไม้ รณรงค์การงดใช้ถุงพลาสติก เชื่อผลักดันแก่งกระจานสู่มรดกโลกได้แน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะประกอบด้วย นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักอุทยาน แห่งชาติ คณะผู้บริหารกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ ปฎิบัติภารกิจ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อํานวยการสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานฯแก่งกระจาน ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา ลงพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสงคราม เพื่อติดตามการเปิดอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรการผ่อนปรน กิจการและกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) พร้อมมอบนโยบาย และแนวทางการดําเนินงาน ให้กับหน่วยงานสังกัด ทส. รวมถึงตรวจเยี่ยมสถานีเพาะชํากล้าไม้ และติดตามการแจกกล้าไม้ ให้กับประชาชน พร้อมรณรงค์การงดใช้ถุงพลาสติก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งสิ่งที่ดีที่สุด คือการรักษาสภาพให้คงอยู่ตามสภาพที่เคยเป็น เพื่อได้พบสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์นั้น เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ และมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่สวยงามมากมาย อาทิ ถ้ำพระยานคร ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (บึงบัว) ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อย ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ มีบทบาทและสร้างรายได้สําคัญให้กับประเทศ การแก้ไขปัญหาเรื่องสัตว์ป่าในพื้นที่ การควบคุมปริมาณลิง การดูแลอนุรักษ์ช้างป่า ต้องคํานึงถึงทั้งสองฝ่าย โดยเอาใจสัตว์ป่ามาใส่ใจเรา พร้อมกับการดูแลความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป
การแก้ไข ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน สิ่งสําคัญคือ การป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด และเมื่อแก้ไขปัญหาแล้ว เกิดผลอย่างไร การบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำ ท่วมอย่างยั่งยืน การจัดที่ดินทํากินให้กับประชาชน และการตรวจติดตามผลการดําเนิน โครงการจ้างงานให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
นายวราวุธ ได้เดินชมบริเวณโดยรอบที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยหยุดยืนมองดูขอนไม้มะค่าโมงยักษ์ ที่อยู่ข้างที่ทำการฯ ด้วยความเสียดาย ที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ต้องถูกตัดโค่น และร่วมปลูกต้นไม้ บริเวณลานไทร ตรวจเยี่ยมหน่วยพิทักษ์อุทยานฯเขาสามยอด หน่วยพิทักษ์อุทยานฯบ้านกร่าง ชม นิทรรศการฟังบรรยายสรุป การปฎิบัติงาน ของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯห้วยคมกฤต ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่มีสัตว์ป่าชุกชุมจำนวนมาก มีการจัดทำแปลงปลูกหญ้า สร้างแหล่งน้ำ โป่งเทียม ทำฝายชะลอน้ำ ให้สัตว์ป่า
นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวถึงการผลักดันแก่งกระจานขึ้นมรดกโลกว่า ประเด็นสําคัญของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือการก้าวสู่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับกับประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ขณะนี้ได้ส่งเอกสารรายละเอียดไปเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคงได้ไอเท็มมรดกโลก
ส่วนปัญหาเรื่องช้างป่า ที่เข้ามาหากินในชุมชนนั้น ขอให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยศึกษาพฤติกรรมและช่วงเวลาหากินของช้างป่า เพื่อดูแลเฝ้าระวังให้คนกับช้างอยู่ ร่วมกันได้ ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ และมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ดังนั้นจึงควรมีการบริหารจัดการที่ดี ในการร่วมกันดูแลรักษา และฟื้นฟูผืนป่า ที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่สําคัญ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์. ปลัด ทส. กล่าวว่า ปัญหาขยะและน้ำเสีย ให้มีพื้นที่สําหรับการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว และการติดตามโครงการ พระราชดําริในพื้นที่ ให้มีความสมบูรณ์ การทํางานที่จะประสบความสําเร็จนั้น จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงมีการประสานงาน กับทุกหน่วยงาน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ในการทํางานและแก้ไขปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ให้นําการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ มาช่วยในการปฏิบัติงาน ให้มีการทําแบบสอบถาม และแบบประเมินในอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนํามาปรับปรุงพัฒนาอุทยานแห่งชาติ ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
สำหรับภารกิจในวันที่3 ในวันสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ เยี่ยมชมพื้นที่บริเวณชายหาด ด้านหน้าเรือนเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองการปรับปรุง และฟื้นฟูระบบนิเวศ พร้อมสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เยี่ยมชมพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ชมโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในภาพรวมของพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ พร้อมรับฟังสถานภาพแนวชายฝั่งทะเล และการแก้ไขปัญหา การกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดเพชรบุรี
รวมทั้งเดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเล ณ ท่าเทียบเรือ และตรวจเยี่ยมอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนจะเสร็จสิ้นภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด
วุฒิเดช ก้อนทองคำ ผู้สื่อข่าว จ. กาญจนบุรี