“สัณหพจน์” เผย “สมศักดิ์” ดัน ปลดล็อกพืชกระท่อม ช่วยเกษตรกรลืมตาอ้าปาก คาด ส.ค.นี้ เข้าครม.

“สัณหพจน์” เผย “สมศักดิ์” ดัน ปลดล็อกพืชกระท่อม ช่วยเกษตรกรลืมตาอ้าปาก คาด ส.ค.นี้ เข้าครม.

“สัณหพจน์” เผย “สมศักดิ์” ดัน ปลดล็อกพืชกระท่อม ช่วยเกษตรกรลืมตาอ้าปาก คาด ส.ค.นี้ เข้าครม.

รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เผยความคืบหน้าปลดล็อกพืชกระท่อม หลังหารือร่วม รมว.ยุติธรรม ชูช่วยเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ คาดต้นเดือน ส.ค.63 นำเสนอที่ประชุมครม.

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึง ความคืบหน้านโยบายการปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ว่า ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เร่งดำเนินการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับแสดงความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์ https://www.oncb.go.th/Pages/main.aspx ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นระยะเวลา 15 วัน

โดยคาดว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 จะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับนายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ถือเป็นการทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชน และวิถีชีวิตของชุมชน โดยพืชกระท่อมมีหลักฐานการใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีต โดยใช้ในการบำรุงกำลังเป็นยาขยัน แก้ปวดท้อง แก้ปวดเมื่อย ดังนั้นพืชกระท่อม จึงไม่ใช่ยาเสพติด

ขณะเดียวกันในด้านการส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น เนื่องจากพืชกระท่อมมีสาร 2 ชนิด ที่เรียกว่า “ไมทราไจนีน” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยระงับความเจ็บปวดได้ดีกว่ามอร์ฟีน และ “เซเว่นไฮดรอกซี” เป็นยาชูกำลัง โดยขณะนี้ประเทศมหาอำนาจผลิตมอร์ฟีนขายสร้างรายได้ปีละเกือบ 5 แสนล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเปิดให้มหาวิทยาลัยที่มีความรู้และสนใจศึกษาวิจัยพืชกระท่อม เพื่อเตรียมความพร้อม รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ปลูกและสำรวจกลไกการตลาด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาดเหมือนพืชเศรษฐกิจเช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

ด้านความกังวล เรื่องการควบคุมนั้น รมว.ยุติธรรม ได้เผยถึงมาตรการป้องกันว่า จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับพืชกระท่อม และป้องกันการใช้พืชกระท่อมเป็นส่วนผสมของสารเสพติด หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เช่น 4 คูณ 100 โดยในส่วนของการใช้ทั่วไป สามารถใช้เพื่อเคี้ยวเป็นยาบำรุงกำลังได้เพียงอย่างเดียว ในขณะที่หากจะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องมีการขออนุญาตที่ อย.ก่อน

“รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวสรุปง่ายๆ ถึงการใช้พืชกระท่อมว่า บุคคลทั่วไป สามารถนำมาเคี้ยวได้อย่างเดียว ห้ามนำมาทำ 3 คูณ 100 หรือ 4 คูณ 100 ซึ่งตนในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.จ.นครศรีฯ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือ และสร้างความเข้าใจกับประชาชน และเยาวชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้พืชกระท่อมเป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่อดีต” นายสัณหพจน์ กล่าวในตอนท้าย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม