“ศรีสุวรรณ” เตือน “เยาวชนปลดแอก” ฝ่าฝืนชุมนุมถูกจับแน่

“ศรีสุวรรณ” เตือน “เยาวชนปลดแอก” ฝ่าฝืนชุมนุมถูกจับแน่

วันที่ 18 ก.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยว่า ตามที่เพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ได้โพสต์ข้อความ ที่มีเนื้อหาที่ปลุกระดมให้คนออกมาชุมนุมกันในวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 5 โมงเย็น ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังไม่ยุติ และขณะนี้ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามให้มีการรวมกลุ่มหรือการชุมนุมต่างๆ ซึ่งอาจจะสุ่มเสี่ยงกับการแพร่ระบาดโควิด-19

การจัดการชุมนุมดังกล่าว ผู้จัดคงรู้แจ้งแล้วว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยเฉพาะ ม.9(2) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งสอดรับกับข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ข้อ 5 และฉบับที่ 2 ข้อ 2(2) มีอัตราโทษตาม ม.18 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายอื่นอีกมากที่จะสามารถเอาผิดกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมได้ อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา ม.215 ฐานมั่วสุมกันเกินกว่าสิบคนหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ต้องประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นั้น

ทั้งนี้ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 3 ข้อ 3 ในกรณีมีการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ฯลฯ และเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความใน ม.9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดนั้นโดยเร็ว

ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.44 จะบัญญัติไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

ซึ่งปัจจุบันไทยเรามี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ออกมาบังคับใช้แล้ว และถึงแม้ใน ม.3(6) จะกำหนดไม่ให้นำกฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม แต่ในวรรคท้ายของอนุมาตราดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า “แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” ด้วย

ดังนั้น เมื่ออำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ตกมาอยู่ในการบังคับของนายกรัฐมนตรี และ ศบค. ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และยังไม่ได้มีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว แกนนำที่จะขึ้นเวทีทุกคน ก็จงเตรียมตัวเตรียมใจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปเถิด แล้วอย่ามาฟูมฟายว่าถูกรังแกจากอำนาจรัฐเลย เพราะถ้าตำรวจไม่จับกุมดำเนินคดี ก็อาจถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อ.157 ได้ แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสมควรที่จะยกเลิกได้แล้ว แต่ในขณะนี้รัฐบาลเขายังไม่ยอมยกเลิก แม้เราจะไม่ชอบ พ.ร.ก. แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม