“ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” ห่วง สพฐ. เคาะ “วันเปิดเทอม” พลาด

ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” ห่วง สพฐ. เคาะ “วันเปิดเทอม”เป็น 1 ก.ค.ผิดพลาด ชี้การปล่อยให้นักเรียนหยุดเรียนอย่างยาวนาน จะส่งผลเสียหายต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ชงคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ที่มีตัวแทนผู้ปกครอง พ่อและแม่บุคคลในชุมชน ครู และผู้บริหารโรงเรียน แพทย์ในการตัดสินใจ

 วันที่ 18 พ.ค.2563 ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน  อดีตรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเป็นห่วงในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดว่า ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ไม่ลดลงจนถึงเกณฑ์ปลอดภัยต่อการไปโรงเรียนของนักเรียน โดยเฉพาะชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทาง สพฐ. จะจัดให้มีการสอนออนไลน์ ผ่านช่องทีวีดิจิตอลเพื่อการศึกษา (DTV ช่อง 37-53) ซึ่งจะเริ่มต้นทอดลองการถ่ายทอดการสอนผ่านช่องทีวีดิจิตอลในวันที่ 18 พฤษภาคม (2563) นี้

          เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเทอมที่ถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ว่า ประเด็นที่กลายเป็นข้อกังวลของวงการศึกษา คือ การปล่อยให้นักเรียนหยุดเรียนอย่างยาวนานถึงแม้จะมีการเรียนผ่านช่องทีวีดิจิตอลก็ตาม ก็อาจส่งผลเสียหายต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้เพราะความไม่เชื่อว่าการสอนออนไลน์ ผ่านทีวีดิจิตอลที่ สพฐ. จะดำเนินการนั้นจะสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน ถ้าให้นักเรียนไปโรงเรียนในช่วงเวลานี้ แล้วนักเรียนเกิดติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็จะกลายเป็นความไม่สบายใจของผู้ปกครองและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ด้วยประเด็นความขัดแย้งของแนวทางจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น ผมในฐานะที่ทำงานทางด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ เพื่อหวังว่าจะช่วยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีทางออกที่เหมาะสม และถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความห่วงใยที่มีต่อสถานการณ์อันไม่ปกติ ซึ่งกระทบต่อกลไกทางการศึกษาจนอาจส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในบ้านเมืองของเราขอตั้งคำถามว่า ใครควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่านักเรียนควรจะไปโรงเรียนหรือควรจะเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ถ้า สพฐ. จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แล้วให้นักเรียนทั้งประเทศปฏิบัติตาม ผมคิดว่าคงจะไม่ถูกต้องนักเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ที่สำคัญ ความรับผิดชอบด้านสาธารณสุขในบริเวณพื้นที่ตั้งของแต่ละโรงเรียนนั้น ก็มีบริบทสภาพแวดล้อมตามความเข้าใจและความคุ้นเคยของคนในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในบริเวณดังกล่าวดังนั้น คณะบุคคลที่ควรต้องตัดสินใจ ว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสในบริเวณพื้นที่ตั้งของโรงเรียนนั้นๆจะปลอดภัยพอที่จะให้นักเรียนไปโรงเรียนได้หรือไม่ น่าจะให้คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน อันประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง พ่อและแม่ บุคคลในชุมชน ครู และผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงแพทย์ในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมให้ความเห็น ก็น่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยตามอำเภอใจของ สพฐ.

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม