วันที่ 27 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ วัดหนองกระทุ่ม หมู่ที่ 1 ต.หนองกระทุ่ม อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีประสบปัญหาด้านการเกษตร ฟื้นฟูและแก้ไขปัญหา ในรูปกิจกรรมให้บริการทางการเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ
นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า กิจกรรมโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตร ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร โดยบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 ได้กำหนดจัดงานในทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-31 กรกฎคม 2563 โดยมีกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การลงนามถวายพระพร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และเปิดให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่
สำหรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ ในครั้งนี้ มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในพื้นที่อำเภอเดิมบางนางบวช และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ประสบปัญหาด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานประกอบกับประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย (ภัยแล้ง) พื้นที่รวม 27,889.75 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 1,777 ราย นอกจากนี้ยังพบปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช อาทิปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง และการระบาดของแมลงจักจั่นอ้อย รวมทั้งปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ผ่านการบริการทางวิชาการด้านเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคีเครือข่าย ได้แก่ คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกข้าว และคลินิกอื่น ๆ ประกอบด้วย คลินิกบริการด้านอารักขาพืช คลินิกขยายพันธุ์พืช และคลินิกฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นต้น พร้อมกับการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น คลินิกสาธารณะสุข คลินิกสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานภาคเอกชนด้านการเกษตร
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์การจัดการศัตรูอ้อย เพื่อเผยแพร่และสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความเสียหายของไร่อ้อยที่มีสาเหตุมาจากจักจั่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหา ให้ได้รับบริการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรครบวงจร รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตรเสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย
วัฒนพล มัจฉา ผู้สื่อข่าว จ. สุพรรณบุรี