18 พ.ค.นี้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินแน่ แต่ล่าสุด “หม่อมเต่า”ยอมรับ 3 ข้อผิดพลาด ทำจ่ายผู้ประกันตน ม.33 จากโควิดช้า และคาดมีผู้ลงทะเบียนเพิ่ม เฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน
วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 คืบหน้ามาตรการการจ่ายเงินชดเชย ช่วยเหลือลูกจ้างหรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ล่าช้ากว่าที่ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ( รมว.แรงงาน)เคยแจ้งเอาไว้ว่าจ่ายครบทุกคนภายในวันที่ 18 พ.ค.2563 แต่ไม่เป็นจริง
เพราะมีผู้ประกันตนม.33 ที่ถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อีกเป็นจำนวนมาก ยังไม่ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 62 ทั้งที่ส่วนใหญ่ยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมในแต่ละพื้นที่เอาไว้มานานกว่า 2 เดือนแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวยอมรับว่า มาตรการการจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปด้วยความล่าช้า โดยสาเหตุมาจาก 3 ข้อผิดพลาด ดังนี้ 1.ทั้งในส่วนของประกันสังคม 2.ผู้ประกอบการที่ต้องใช้คนดำเนินการ 3 ยังพบปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีบางหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วยแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการทยอยจ่ายเงินเพื่อชดเชยตามลำดับ
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า พบว่าหากผู้ประกอบการเปิดดำเนินกิจการแล้ว จึงจะมีการแจ้งมายังประกันสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาภายใน 45 วัน โดยทางประกันสังคมจึงต้องกลับไปตรวจสอบอีก แต่ยืนยันว่ามีเงินในกองทุนประกันสังคมจ่ายให้กับผู้ประกันตน ที่มีมากถึง 62 ล้านคนอย่างแน่นอน
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะเดียวกันพบว่า มีผู้ประกันตนขอลงทะเบียนเพื่อชดเชยไว้เฉลี่ยวันละ 30,000 คน และอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่ ซึ่งประเมินว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะผู้ประกอบการเปิดกิจการต่อไป
“ต้องจับตา 1-2 เดือนนี้ว่าเศรษฐกิจในประเทศไทย จะเดินไปอย่างไร จะนิ่งหรือไม่ ดังนั้น จึงจะต้องตรวจสอบข้อมูลจริงทั้งหมด โดยทางประกันสังคมกำลังติดตามข้อมูลผู้ประกันตนและรายงานให้ตนเองได้ทราบทุกวัน” รมว.แรงงาน กล่าวชี้แจง