ประมงพื้นบ้านแหลมสิงห์

ประมงพื้นบ้านแหลมสิงห์ จันทบุรี สุดทน…เรือรุนติดเครื่องยนต์ นับ 10 ลำ ลุยทะเลชายฝั่งพังพินาศ

ทหารเรือ  กอ.รมน.  ประมงอำเภอ  ประมงจังหวัด ช่วยด้วย…ชาวประมงพื้นบ้านแหลมสิงห์ จันทบุรี เดือดร้อนหนัก เรือรุนติดเครื่องยนต์นอกพื้นที่ นับ 10 ลำ  รุกคืบเข้าริมชายฝั่ง เสียงเครื่องยนต์กระหึ่มทะเล  กวาดลูกกุ้ง หอย ปู ปลา เครื่องมือทำการประมง  แหล่งอาหาร หญ้าทะเล พังพินาศ

เรื่องนี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563  นายสมนึก สุวรรณรัตน์  นายกสมาคมประมงพื้นบ้านปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี  เป็นตัวแทนชาวประมงยื่นหนังสื่อร้องทุกข์ความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้าน ให้กับ นายจำลอง ไชยสุบิน ประมงอำเภอแหลมสิงห์ ณ สำนักงานประมงอำเภอ เพื่อดำเนินการจับกุม ปราบปราม เรือประมงอวนรุน ติดเครื่องยนต์ ทำการประมงโดยผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง ทำลายห่วงโซ่ แหล่งอาหารของสัตว์ ทะเลที่หากินหน้าดิน เช่น ลูกกุ้ง หอย ปู ปลา ทำลายหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหาร  และยังสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ทางการประมง โดยเฉพาะอวนปู อวนลอยปลา และอื่น ๆ

 สำหรับวัตถุประสงค์ ที่นายสมนึก ตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้านได้มายื่นหนังเสือร้องทุกข์ให้กับประมงอำเภอแหลมสิงห์ พร้อมรายชื่อชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขณะนี้ได้มีเรืออวนรุน ติดเครื่องยนต์ ประมาณ 10 ลำ ขนาด 3-5 ตันกรอส ความยาวประมาณ 5-6 วา ได้เดินทางเข้ามาทำการประมงในเขตชายฝั่ง ต.เกาะเปริด ถึง ต.บางชัน ตั้งแต่เวลา 19.00 น.-03.00 น.เป็นประจำทุกวัน เสียงเครื่องยนต์กระหึ่มชายฝั่ง แสงไฟสว่างจ้า ดาหน้ากันรุนในวงกว้างตามแนวชายหาดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่เรือประเภทนี้ผิดกฎหมาย จึงได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะทหารเรือ ตำรวจน้ำ ประมงอำเภอ ประมงจังหวัด และฝ่ายความมั่นคง ต้องลงมาปราบปรามผู้กระทำความผิด และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรืออวนรุนติดเครื่องยนต์  เป็นเรื่อที่ยังมีชาวประมงใช้ในการทำประมงแบบฉาบฉวย ในพื้นที่ต่าง ๆ มีแหล่งรวมอยู่ที่แม่น้ำเวฬุ  อ.ขลุง จ.จันทบุรี เขตติดต่อกับ เขาสมิง จ.ตราด เรือประเภทนี้ทำการประมงโดยผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะลากหน้าดิน หญ้าทะเล สัตว์หากินหน้าดิน กุ้ง หอย ปู ปลา ตัวเล็กที่ยังเป็นห่วงโซ่อาหารต้องสูญพันธุ์ และมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำแหลมสิงห์ ต้องช่วยกันรักษาแหล่งอาหารทะเลของท้องถิ่นตัวเองไว้ จึงจำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐมาดำเนืนการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีต่อไป

    ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม