จับตา! “วิษณุ” รับ ศบค.เสนอลดเคอร์ฟิวโยน สมช.เคาะเที่ยงคืนถึงตีสี่หรือไม่?

“วิษณุ” รับ ศบค.เสนอลดเคอร์ฟิวโยน สมช.เคาะเที่ยงคืนถึงตีสี่หรือไม่ ปล่อย ศบค.ย่อย วางมาตรการผ่อนปรนระยะ 3 ย้ำ อังคารนี้ ครม. ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

วันที่23 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค. มอบหมายให้พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ไปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะลดเวลาเคอร์ฟิวจากเที่ยงคืนถึงตีสี่ว่า มีการนำเสนอขึ้นมาในที่ประชุมแต่ยังไม่ใช่มติแต่อย่างใด

 ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงหลังการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ได้หรือไม่ว่า นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ ก็เป็นไปได้แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหนึ่งแต่ถ้าไม่ใช้ต่อเรื่องเคอร์ฟิวก็ไม่ต้องพูดถึง

 “แต่ถ้าหากประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ การนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในสัปดาห์หน้านั้นก็ไม่จำเป็นว่า เมื่อประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว จะต้องบังคับใช้มาตรการทุกอย่าง ทั้งนี้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปตามมาตรา 5 แต่ผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นไปตามมาตรา 9 ซึ่งมีอยู่ 7-8 ข้อ ดังนั้นจะเลือกใช้เป็นบางข้อก็ได้ เหมือนที่ผ่านมาเราประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามมาตรา 5 และประกาศใช้มาตรา 9 เกือบทุกข้อ ซึ่งข้อแรกคือเรื่องเคอร์ฟิว ดังนั้นถ้าต่อไปเราประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจจะเลือกบังคับใช้ตามมาตรา9 เพียงบางข้อก็ได้ เช่น เคอร์ฟิวไม่มีก็ได้หรือจะลดเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลงก็ได้หรือเวลานี้ห้ามชุมนุมต่อไปอาจจะไม่ห้ามก็ได้ ซึ่งนี่คือตัวอย่างที่ยกให้ฟังเพื่อให้เห็นว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการบังคับใช้มาตรการใดบ้างเป็นคนละส่วนกัน แต่ถ้าไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ใช้ข้อไหนไม่ได้เลย”

 ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจในภาพรวมแล้วบอกต่อที่ประชุม ศบค. อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า สถิติดูดีขึ้น ถ้าดูตัวเลขของสถิติแต่ทางการแพทย์ยืนยันว่า ที่สถิติดีขึ้นนั้นเป็นผลจากการควบคุม แต่ถ้าเราไม่ควบคุม สถิติก็อาจจะแย่ลงก็ได้ ดังนั้นขอให้ตรึงไว้สักระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงตามลำดับ 

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเรื่องโรงเรียนที่ได้ประกาศปิดโรงเรียนและให้เรียนออนไลน์ และเลื่อนเปิดภาคเรียนนั้นเป็นคนละเรื่องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นมติ ครม. ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเรื่องการเปิดเรียนนั้นนายกรัฐมนตรีได้ย้ำในที่ประชุมศบค.ว่า ขอให้ใช้คำว่าระบบเรียนทางไกล ไม่ควรใช้คำว่าเรียนออนไลน์ เพราะการเรียนทางไกล อาจจะใช้ระบบทางโทรศัพท์ และยังสามารถเรียนผ่านโทรทัศน์ หรือดาวเทียม ก็มีหลายวิธี เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขาก็สอนทางไกลกันมาอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19 ก็เป็นการเรียนทางไกลโดยซื้อตำรามาอ่านเรียนเองที่บ้าน และนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตลอดไปและไม่ได้แปลว่าจะต้องทำทุกวิชา และไม่ได้แปลว่าจะต้องทำกับเด็กทุกคน ระดับอนุบาลอาจจะอย่างหนึ่ง ระดับประถมอีกอย่างหนึ่ง และอาจจะเลือกเรียนเป็นบางวิชา เพื่อลดความเสี่ยง ลดความแออัด เพื่อให้เหลือน้อยชั่วโมง ซึ่งตอนนี้โรงเรียนที่ขอเปิดก่อน อาทิ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนจุฬาภรณ์ ที่จะขอเปิดก่อนในเดือนมิถุนายนนี้ หรือถ้าโรงเรียนไหนมีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ โดยผ่านการประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข 

 “ในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม เลขาสมช. จะรายงานในนามศบค. เพื่อขอต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินและต่อหรือไม่ต่อเคอร์ฟิวเท่านั้น ส่วนมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ไม่เคยเข้าครม. จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของผอ.ศบค. ดังนั้นสมช. จะประชุมในคณะย่อยในวันที่ 27 พฤษภาคม ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อที่จะมีผลในวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ถัดไป” นายวิษณุ กล่าว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม