โฆษกพรรคภูมิใจไทย” ระบุ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งและสรรหาจากกลุ่มวิชาชีพ ยอมรับ ร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรให้เวลา ส.ส.ร.ทำงาน 10 เดือน – 1 ปี แต่ไม่ควรเกิน 2-3 ปี
เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2563 นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงโครงสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ตอนนี้ร่างในส่วนของพรรคฝ่ายค้านที่ได้ยื่นไว้ในสภาฯ ซึ่งตนได้ดูร่างคร่าวๆก็จะเห็นว่า มีจำนวน ส.ส.ร. 200 คนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคได้แถลงชัดเจนว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พรรคภูมิใจไทยก็มองถึงความครอบคลุมในทุกสาขาอาชีพ ดังนั้น นอกจากการเลือกตั้งควรมองถึงกลุ่มสาขาอาชีพ ลองเขียนโมเดลที่ให้สามารถครอบคลุมได้ทุกสาขาชีพ ซึ่งรวมไปถึงก็นักเรียน นิสิต นักศึกษาด้วย ทั้งนี้ ส.ส.ร.อาจจะมีสองส่วนก็ได้คือ มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อมองว่า หากเราเลือกตั้งทั้งหมดจะตอบโจทย์หรือไม่ เพราะมองว่าคนที่ได้รับเลือกตั้งจะมาจากกลุ่มอาชีพใดบ้าง ซึ่งในการเขียนรัฐธรรมนูญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกลุ่มคนที่มีความชำนาญเฉพาะทางในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นเรื่องดี ถ้าหากว่ามีตัวแทนของกลุ่มสาขาชีพมาเป็นตัวแทนของ ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นมาจากตัวแทนของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งในเขตจังหวัด
ทั้งนี้ ยอมรับว่า เห็นข่าวที่พรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้มี ส.ส.ร.200 คน โดย 150 คนมาจากการเลือกตั้งในเขตจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 50 คนอาจจะมีการสรรหาของหน่วยงานและองค์กรต่างๆตลอดจนกลุ่มสาขาที่ต่างๆ ซึ่งอาจต้องเอาโมเดลของ ส.ว.ที่มีการคัดสรรให้เหลือ 200 คนในขณะนั้นนำเอามาใช้ดูว่า สามารถที่จะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะมีการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ทั้งนี้ หากผ่านวาระที่หนึ่งไปแล้วและมีการตั้งคณะกรรมาธิการก็จะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการต่อไป
เมื่อถามว่า การตั้ง ส.ส.ร.จะทำให้กรอบเวลายืดยาวขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นปีหรือเลยเวลาไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป นายภราดร กล่าวว่า ในเมื่อสังคมตั้งใจที่จะเดินหน้าสู่การตั้ง ส.ส.ร. ต้องยอมรับว่า กฎหมายหรือตัวรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน อาจจะเอาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา มารวมกัน แม้กระทั่งร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณที่ถูกตีตกไปก็อาจจะนำมารวบรวมและสรุปด้วย ขณะเดียวกัน ส.ส.ร.ก็จำเป็นที่จะต้องลงไปรับฟังความคิดเห็นและทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยนประเด็นให้สังคมว่าประเด็นใดที่เป็นประเด็นตอนแรงสื่อมวลชนก็ควรนำประเด็นนี้มาถกเถียงเพื่อให้สังคมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้มากที่สุด ดังนั้น เรื่องเวลา ส่วนตัวคิดว่า การทำรัฐธรรมนูญ ถ้าจะทำให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา ผักเร่งรีบในการดำเนินการก็จะทำให้ความสมบูรณ์ไม่เกิดขึ้นและสุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญก็จะไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะนานเกินไปจนถึง 2-3 ปี ซึ่งส่วนตัวมองว่า ควรจะนำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาพิจารณาประกอบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมี ส.ส.ร.เช่นเดียวกัน แล้วก็ให้พิจารณาดูกรอบเวลาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า ส.ส.ร.ใช้เวลาเท่าไหร่ ส่วนตัวคิดว่า 10 เดือนถึงหนึ่งปีหรืออาจจะเกินไปบ้าง 1-2 เดือนเป็นเวลาที่พอรับได้