“แก้มลิง” ป้องกัน”น้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีความจำเป็น หรือไม่

ทำความเข้าใจสาเหตุ การซ้ำเติมปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จะป้องกันอย่างไร ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ “แก้มลิง” มีความจำเป็น หรือไม่

ทำความเข้าใจกับสาเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ

โดยลักษณะทางกายภาพ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวสลับชั้นน้ำบาดาล เมื่อฝนตกหนักหรือมีน้ำท่วมขังจะทำให้ชั้นดินทรุดตัวต่ำลง ซึ่งผลกระทบต่อการระบายน้ำที่ทำได้ช้า อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นลักษณะแอ่งกระทะลงไป ทำให้น้ำที่ท่วมไม่สามารถไหลตามแรงน้ำท่วมออกสู่แม่น้ำลำคลองและอ่าวไทยได้สะดวก จากการศึกษาของหลายหน่วยงานได้ชี้ว่า  กรุงเทพทรุดตัวโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 2 ซม.

นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ ที่ทำให้น้ำท่วมขังได้ง่ายแล้วยังระบายน้ำออกได้ช้าอีก ปัจจัยจากพฤติกรรมมนุษย์ เช่น การสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางฟลัดเวย์โดยธรรมชาติ การสร้างตึกสูงและหมู่บ้านโดยปราศจากการวางผังทางเดินน้ำ การรุกล้ำลำคลองและการทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำและคูคลอง ยังซ้ำเติมให้ปัญหาน้ำท่วมขังเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก

ทางแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากจะต้องมีผังเมืองที่ควบคุมความเจริญอย่างเป็นระเบียบพร้อมการวางผังทางเดินน้ำ การรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำและคูคลอง การมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่มากพอที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม การเพิ่มพื้นที่ของ “ดิน” ในการซับน้ำและรองรับน้ำส่วนเกินจากฝนตกหนักจนเกิดปัญหาน้ำท่วมมีความจำเป็นอย่างมาก

แก้มลิง : การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในระยะยาว

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำท่วมด้วย “แก้มลิง” ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับสภาพลักษณะทางกายภาพของกรุเงทพฯ ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ โดยการจัดหาพื้นที่ลุ่มเป็นที่รองรับเก็บกักน้ำชั่วคราวเมื่อฝนตกหนัก

ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

1. ระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามลำคลองลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่บริเวณชายทะเล

2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลเองตามธรรมชาติตามแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow)

3. สูบน้ำออกจากแก้มลิงซึ่งเป็นที่พักน้ำเดิม ให้ระบายออกสู่ทะเล เพื่อให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ดังนั้น ปริมาณน้ำท่วมในพื้นที่จะค่อยๆ ลดลง

4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับโดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว (One Way Flow)

กรุงเทพฯ มีพื้นที่แก้มลิงเพียงพอหรือไม่

ปัจจุบัน (ปี 2560) สำนักการระบายน้ำสามารถจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำได้แล้ว 25 แห่ง มีศักยภาพเก็บกักน้ำได้ประมาณ 13.04 ล้าน ลบ.ม. ยังคงต้องจัดหาพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำเพิ่มเติมอีกประมาณ 5.96 ล้าน ลบ.ม.

จึงเป็นที่มาของโครงการจัดทำบึงรับน้ำบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีด้วยกันทั้งสิ้นจำนวน 6 โครงการด้วยกัน ได้แก่

1) โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองลำหม้อแตก เขตสายไหม สามารถเก็บกักน้ำได้ 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

2) โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองพระยาสุเรนทร์ คลองสามวาตะวันออก สามารถเก็บกักน้ำได้ 1.9 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

3) โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองคู้บอน เขตคันนายาว สามารถเก็บกักน้ำได้ 8.7 แสน ลูกบาศก์เมตร

4) โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองบางชัน เขตมีนบุรี สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.6 แสน ลูกบาศก์เมตร

5) โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองสามวา 1 เขตคลองสามวา สามารถเก็บกักน้ำได้ 8.5 แสน ลูกบาศก์เมตร

6) โครงการบึงรับนํ้า บริเวณคลองสามวา 2 เขตคลองสามวา สามารถเก็บกักน้ำได้ 8.9 แสน ลูกบาศก์เมตร

โครงการทั้ง 6 โครงการนี้ สามารถกักเก็บน้ำได้ปริมาณรวมถึง 5,770,000 ลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ของโครงการทั้งหมดยังเป็นที่โล่ง ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ

ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ของบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอนอยู่ที่ประมาณ 254,000,000 ล้านบาท

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการแก้มลิง

1. ช่วยระบายน้ำท่วมขังในที่ลุ่มสู่ทะเล

2. ช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมขังให้สั้นลง

3. ลดปัญหาความตึงเครียดทางด้านจิตใจของราษฎรในพื้นที่น้ำท่วม

4. ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

5. ลดค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมสาธารณูปโภค

6. เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง

7. เป็นพื้นที่บำบัดน้ำเสียในชุมชนจากการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในบริเวณพื้นที่ที่ทำแก้มลิง

8. เป็นพื้นที่สีเขียวจากการปลูกต้นไม้ใหญ่ในบริเวณพื้นที่ที่ทำแก้มลิง

9. เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายในบริเวณพื้นที่ที่ทำแก้มลิง

10. กรุงเทพฯ เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของไทย เป็นเมืองที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อันดับ 1 ขอบประเทศ จึงควรต้องมีระบบป้องกันอุทกภัยที่ดี ไม่ให้ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.30 น. ตัวแทนหมู่บ้านและชุมชนที่อยู่รอบบึงรับน้ำคู้บอน (แก้มลิง) รวมถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ตรวจสอบพื้นที่เตรียมประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดิน จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองคู้บอน และกำหนดมาตรการในการคุ้มครองพื้นที่เตรียมประกาศฯ โดยมี นายโกสิน เทศวงษ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับหนังสือจากตัวแทนฯ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ตัวแทนชุมชนที่อยู่รอบบึงรับน้ำคู้บอน (แก้มลิง) กล่าวว่า ประเด็นที่ขอเข้าพบผู้ว่า กทม. ในวันนี้ มีขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการแก้มลิง (คู้บอน) ที่ กทม. จัดหาพื้นที่แก้มลิงรับน้ำฝั่ง กทม. ตะวันออก โดยมีการสำรวจเพื่อเวนคืนจำนวน 6 บึง ในพื้นที่ฝั่งตะวันออก สามารถเก็นน้ำชั่วคราวเพิ่มเติมได้อีก 5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ได้ถูกคัดค้านและล้มเลิกไปถึง 4 บึง ทำให้พื้นที่กักน้ำหายไปถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังคงเหลืออยู่เพียง 2 บึง คือ บึงคู้บอน ขนาดกักน้ำ 800,000 ลูกบาศก์เมตร และคลองบางชัน ขนาดกักน้ำ 200,000 ลูกบาศก์เมตร หายไปถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากทั้ง 2 บึงไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้อีก กทม. ก็จะไม่มีพื้นที่แก้มลิงให้ทำบึงรับน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้

“ปัจจุบัน กทม. ยืนยันชัดว่ากำลังทำโครงการแก้มลิง (คู้บอน) และอยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินตามขอบเขตบึงรับน้ำที่ได้สำรวจออกแบบและมีขอบเขตชัดเจนแล้ว แต่ในความเป็นจริง พบว่า ตอนนี้มีการนำรถแบคโฮและรถถมดินเข้ามาถมที่ดินปรับหน้าดินและรังวัดที่ดินเป็นแปลงย่อยๆ เพื่อจัดสรรที่ดินในเขตที่ถูกระบุเป็นบึงรับน้ำ ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกว่าโครงการจะถูกยกเลิกไป จึงต้องการให้ผู้ว่า กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เตรียมประกาศกำหนดเขตเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า กทม. จะเดินหน้าอย่างจริงจังกับโครงการดังกล่าวอย่างแน่นอน ทั้งงบประมาณเวนคืนที่ดินและงบประมาณก่อสร้าง” ตัวแทนชุมชนที่อยู่รอบบึงรับน้ำคู้บอน (แก้มลิง) กล่าว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม