พร้อมร่วม… ภาคประชาชน ยื่น5ข้อ ให้พ่อเมืองกาญจน์ พิจารณาในการพัฒนา พื้นที่โรงงานกระดาษ วอนอย่าเอาโรงงานกระดาษ มาเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ทางการเมือง
วันที่ 3 กันยายน 2563 เวลา 09.00 น.ที่บริเวณหน้าโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ต.บ้านใต้อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางมารับมอบหนังสือแถลงการณ์ จากภาคีเครือข่ายพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษไทย และเมืองกาญจนบุรี
สำหรับเอกสารที่ทางภาคีเครือข่ายฯ มีใจความเกี่ยวกับการดำเนินงาน ของกลุ่มภาคีฯที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ภาคประชาสังคม “ภาคีเครือข่ายพัฒนาพื้นที่โรงงานเก่ากาญจนบุรี”รวมกับประชาชนชาวกาญจนบุรี ภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้ผนึกกำลังที่เข้มแข็งโดยมีเป้าหมายร่วมกัน” คือ “การทวงคืนพื้นที่โรงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” และ “พื้นที่โบราณถานเมืองเก่า แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้กลับมาเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ของแผ่นดิน
เป็นพื้นที่ศูนย์กลางใจบ้านลานเมือง” อันเข้มแข็งของเมืองกาญจนบุรีอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ถูกสร้างขึ้นมาในปี พ,ศ. 2374 หรือเกือบสองร้อยปีที่ผ่านมา ความร่วมมือร่วมใจ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และที่ทำให้พวกเราสามารถทวงคืน พื้นที่โรงงานกระดาษแห่งนี้ กลับมาได้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า สิ่งอื่นใดทั้งปวง นั่นก็คือ “คุณค่าและความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจนบุรี
พื้นที่โรงงานกระดาษแห่งนี้ตั้งทับซ้อน อยู่ในเขตโบราณสถานเมืองเก่าปากแพรก หรือเมืองกาญจนบุรีใหม่ ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ของกาญจนบุรีอย่างที่เราคาดไม่ถึง ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2 ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของพวกเราที่จะร่วมกันฟื้นฟูและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ กลับมามีชีวิตและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองกาญจนบุรีอีกครั้งหนึ่ง ขอยืนยันว่าเรายังไม่ลดละความมุ่งมั่นนี้ และยินดีที่จะสนับสนุน และให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนดังที่เป็นมา
สำหรับหลักการที่นำเสนอทั้งสิ้น 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. โครงการพัฒนาพื้นที่โรงงานควรเป็น “ประเด็นสาธารณะ” ของชาวกาญจนบุรีทุกคน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ของประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรีนับตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นตันมา และเป็นรากฐานสำคัญ ของศูนย์กลางเมืองเก่ากาญจนบุรีในวันนี้ 2.กระบวนการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ควรให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนอย่างสมดุล และควรส่งเสริมให้ประชาชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างความรู้สึกของความเป็นเจ้าของร่วมกัน ให้เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นกาญจนบุรี
3. โครงการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ควรได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ระดับจังหวัด หรือระดับท้องถิ่น เพื่อรับประกันถึงความต่อเนื่องความสำเร็จ และความยั่งยืนของโครงการ ทั้งนี้ ควรมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน หรือมีการศึกษาพื้นที่ในทุกมิติอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาโครงการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
4. การพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ควรให้ความสำคัญต่อประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมทั้งที่เชื่อมโยงโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมกับพื้นที่ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ควรมีมาตรการเยียวยา หรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ จากโครงการพัฒนา
5. ควรมีการศึกษาชุมชน รอบพื้นที่โรงงานกระดาษ เพื่อนำเสนอคุณค่าของชุมชนเหล่านี้ ในหลากหลายมิติเพราะชุมชนเหล่านี้ มีส่วนทำให้พื้นที่โรงงานกระดาษมีชีวิต และโครงการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ไม่ควรถูกทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อเป้าหมายหรือผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม
วุฒิเดช ก้อนทองคำ/ สุริยะ เหมือนคำ ผู้สื่อข่าว จ. กาญจนบุรี