“พิชัย” ชี้ 6 ปีหลังปฏิวัติ ยิ่งล้าหลังและยิ่งเสื่อมถอย ห่วง 1.9 ล้านล้าน ใช้ผิดทางและมีทุจริต

“พิชัย” ชี้ 6 ปีหลังปฏิวัติ ยิ่งล้าหลังและยิ่งเสื่อมถอย ห่วง 1.9 ล้านล้าน ใช้ผิดทางและมีทุจริต แนะ แนวทางอัดฉีดเงิน 5 ข้อ ปรับปรุงประเทศ 4 ข้อ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวในงานแถลงข่าวของ สภาที่ 3 ที่ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ว่า จะเห็นได้ชัดว่า 6 ปีหลังการปฏิวัติ ประเทศไทย ยิ่งล้าหลังและยิ่งเสื่อมถอยลงทุกด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง ทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยตกต่ำมาตลอดและจะยิ่งย่ำแย่หนัก ประชาชนลำบากกันมากถึงขนาดที่มีการฆ่าตัวตายกันมากที่สุดเพราะพิษเศรษฐกิจ สังคมเสื่อมทราม ขนาดมีกลุ่มครูรุมข่มขืนลูกศิษย์แต่ยังมีคนเห็นใจกลุ่มครู การเมืองย้อนยุค พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อให้มีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป  และรัฐบาลยังเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจะยิ่งเสื่อมลงไปอีกทุกด้าน อีกทั้ง ทุกวันนี้ดูเหมือนรัฐบาลจะขับเคลื่อนด้วยการโดนด่า ถูกด่าเมื่อไหร่ถึงจะคิดเริ่มดำเนินการ แสดงถึงว่าผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ในการคิดล่วงหน้าเลย

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งเป็นการเร่งความเสื่อมถอย และ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและดูแลประชาชนในช่วงลำบาก โชคดีที่ไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงจึงสามารถควบคุมโรคได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งไม่น่าจะใช่เป็นผลงานของรัฐบาลแน่เพราะขนาดโรงแรมกักตัวยังปล่อยให้มีการหักหัวคิวกันเลย  การเยียวยาประชาชนยังเป็นปัญหาหนัก อีกทั้ง การคง พรบ. ฉุกเฉิน และกำหนดเคอร์ฟิว ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นแล้ว  แต่น่าจะทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ห่วงว่าคนจะออกมาประท้วงขับไล่ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้หนักมากขึ้น ถึงขนาดที่กระทรวงการคลังจะไม่กล้าแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1 และ 2 ซึ่งน่าจะทรุดหนักมากจนไม่กล้าแถลง และหากยังไม่ยกเลิก พรบ. ฉุกเฉิน และ เคอร์ฟิว รวมถึงการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยจะยิ่งทรุดหนักลงไปอีกจนกระทรวงการคลังอาจจะไม่แถลงกันทั้งปีเลยก็ได้ 

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะมีแนวทางการเยียวยาประชาชนแต่ยังมีปัญหาอย่างมากที่การเยียวยาไม่ทั่วถึง คนจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยา อีกทั้งคนตกงานจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินประกันสังคม และรัฐบาลต้องคิดล่วงหน้าว่าหากเงินเยียวยาหมดแล้ว ประชาชนจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ซึ่งจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้น การที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท จะต้องพิจารณาให้ดีอย่าใช้สะเปะสะปะเหมือนในอดีต และ อยากเสนอแนวคิด 5 ข้อดังนี้ 

1. ในส่วนของรัฐบาลที่จะกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ควรจะกู้ภายในประเทศทั้งหมด อย่ากู้เงินจากต่างประเทศ ตามที่ได้อธิบายไว้ เพราะจะเกิดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งค่าเงินบาทน่าที่จะต้องอ่อนค่าลงในอนาคตตามสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 


2. การเยียวยาประชาชน 5000 บาท ควรจะทำให้ทั่วถึง ผู้ที่ลำบากควรจะต้องได้รับทุกคนและต้องไม่ล่าช้า เพราะปัจจุบันก็ล่าช้ามากแล้ว โดยเฉพาะเพิ่งจะมาเยียวยาเกษตรกรทั้งๆที่ควรทำไปพร้อมกันแต่แรก และยังมีความสับสนเรื่องข้าราชการที่ทำการเกษตรจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ รวมถึงการเร่งจ่ายเงินประกันสังคมแก่ผู้ที่ตกงานที่ลำบากกันอย่างมาก


3. ในส่วนของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากข้อมูลที่รัฐบาลชี้แจงยังสับสนมาก และ แนวทางก็ยังซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังย้อนยุคจะพาประเทศกลับไปสู่เกษตรกรรม และยังวัดผลไม่ได้ ซึ่งไม่น่าจะฟื้นเศรษฐกิจได้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน และต้องชี้แจงให้เห็นเป็นตัวเลขได้ว่าใช้เงินแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่าเท่าใด เพราะห่วงว่าจะเป็นเงินที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเพื่อรักษาตำแหน่งกัน โดยไม่คำนึงประโยชน์ของประเทศ ซึ่งจะเสียเงินเปล่า 


4. การอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยเหลือธุรกิจ SME ผ่านธนาคารพาณิชย์ อยากให้พิจารณาว่าธุรกิจ SME ใดจะยังคงจะไปรอดหลังวิกฤตไวรัส เพราะหลายธุรกิจอาจจะต้องเลิกไปเลย เพราะหมดสมัยและตกยุคแล้ว ซึ่งหลังวิกฤตไวรัส ธุรกิจ SME จำนวนมากอาจจะต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ อยากให้มีการกำหนดให้รักษาการจ้างงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานที่จะเกิดขึ้นอย่างมากในอนาคตด้วย 


5. การอัดฉีดเงิน 4 แสนล้านบาทของ ธปท. ที่จะซื้อตราสารหนี้ของเอกชน ก็ควรจะช่วยผ่านธนาคารพาณิชย์ เช่นกัน เหมือนที่ช่วย SME เพื่อคงหลักการของ ธปท. ทั้งนี้ ต้องคำนึงว่าในกรณีที่เกิดหนี้เสียจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ การที่ผู้ว่าการ ธปท. ไม่ขอต่อเทอมเป็นเรื่องที่ฉลาดมาก เพราะผู้ว่าการ ธปท. คนต่อไปคงต้องรับภาระหนัก อีกทั้งอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องคำนึงว่าหลังวิกฤตการณ์ไวรัสผ่านไปแล้ว โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ พยายามพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส  ดังนั้น จึงต้องมี 4 แนวทางดำเนินการดังนี้


1. กำหนดว่าแนวทางว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต เพราะแนวทางเศรษฐกิจจะไม่มีทางกลับมาเหมือนเก่า และ ถึงเหมือนเก่าไทยก็ยังจะแย่อยู่เลย
2. เปิดทางสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยเปิดให้คนเก่งๆทั่วโลกเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้ง่าย อีกทั้งปรับปรุงกฏหมายและระบบราชการให้สอดคล้อง
3. เลิกการผูกขาดของนายทุน เพื่อให้เกิดการกระจายของโอกาส และ การกระจายรายได้อย่างแท้จริง 
4. รื้อระบบงบประมาณเพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเทศเสียใหม่ เช่น งบการทหาร และงบซื้ออาวุธก็ควรจะต้องปรับลดลงไป เป็นต้น พร้อมกับหารายได้เข้าประเทศด้วยแนวทางใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกรอบเดิม 
  

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถจะคิดและทำได้ ทุกวันนี้รัฐบาลยังกลั่นแกล้งคนเห็นต่างอยู่เลย โดยเฉพาะกับคนที่ออกความเห็นทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง รัฐบาลยังไม่ตอบเลยว่าได้กลั่นแกล้ง ดร. วีรพงษ์ รามางกูร จริงหรือไม่ ดังนั้นยิ่งรัฐบาลอยู่ต่อไปเศรษฐกิจจะยิ่งทรุด จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ลาออกก่อนที่จะโดนประชาชนขับไล่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม