“ประยุทธ์” ย้ำถึงความจำเป็น3 พรก.เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา ฟื้นฟู ประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวย้ำ ถึงความจำเป็นในการ กู้เงิน พรก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา ฟื้นฟู ประเทศ

วันที่  27 พ.ค.63   ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย  ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ โดยมีวาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ   โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโรคโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเน้นพิจารณาแหล่งเงินกู้ภายในประเทศเป็นหลักพร้อมวางแผนชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกและผู้ติดเชื้อภายในประเทศไทยจำนวนมากทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคด้วยการปิดพื้นที่ต่าง ๆทั้งสถานประกอบการ สถานบริการ สนามบิน การควบคุมการเดินทางของประชาชนส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ประชาชนบางส่วนต้องหยุดงานเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะงักตัวอย่างรุนแรงโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายกว่า9.28 แสนล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จะติดลบถึงร้อยละ5-6 ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ.2563ทั้งงบกลางที่ใช้สำหรับเหตุฉุกเฉินและจำเป็น และการจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายพ.ศ. …. แล้วก็ตามแต่ยังไม่เพียงพอต่อการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาเป็นปกติโดยเร็วโดยเฉพาะการสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุขให้รองรับกับโรคระบาดจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงไม่อาจดำเนินการด้วยวิธีการงบประมาณตามปกติจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. 4ฉบับ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2563จึงขอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้แก่พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทพ.ร.ก.กำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563และ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณที่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จึงได้กำหนดเป็นกรอบการกู้เงินโดยให้กระทรวงการคลัง สามารถกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทโดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2563และต้องใช้จ่ายเงินกู้ตามวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการรวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ภายใต้ 3แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เท่านั้นประกอบด้วย 1. แผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท 2. แผนงานช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบและเพื่อรับมือกับสถานการ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน555,000 ล้านบาท 3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดวงเงิน 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่าการกู้เงินดังกล่าวจะไม่ส่งกระทบต่อหนี้สาธารณะที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 57.63 ไม่เกินกรอบร้อยละ 60โดยรัฐบาลจะพิจารณาแหล่งเงินกู้ภายในประเทศเป็นหลักและแหล่งเงินกู้ต่างประเทศสำรองและกระทรวงการคลังจะดำเนินการวางแผนชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้

          นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่าเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความโปร่งใส คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพจึงกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ครม.กำหนด โดยให้กระทรวงคลังจัดทำรายงานผลการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้จ่ายรวมทั้งผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เสนอต่อรัฐสภารับทราบภายใน 60วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม