พช.นนทบุรี ยกระดับพัฒนาผ้าท้องถิ่น พร้อมเฟ้นหาต้นแบบผ้าเอกลักษณ์จังหวัด
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี จัดกิจกรรมฝึกอบรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน “โครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง” ให้กับผู้ประกอบการประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในจังหวัดนนทบุรี โดยมี นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี ร่วมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองเพื่อให้ได้ต้นแบบผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี ณ โรงแรมนนทบุรีพาเลซ จังหวัดนนทบุรี
การจัดกิจกรรมฝึกอบรมในโครงการฯ แบ่งออก 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 2 และ 12 ตุลาคม 2563 มีผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ในกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 11 คนเข้าร่วม แยกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ผ้าชาติพันธุ์ หมายถึงผ้าที่ผลิตโดยชนเผ่าพื้นเมืองของไทย , ผ้าอัตลักษณ์ หมายถึงผ้าที่เป็นจุดเด่นที่ทุกคนรู้จักกันดี, ผ้าไหม และผ้ามัดย้อม โดยการฝึกอบรมได้รับความร่วมมือจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกเเบบเเฟชั่นเเละไลฟ์สไตล์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Thai IDC ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผลิตภัณฑ์ผ้า ที่มาให้ความรู้ และได้ทำการพูดคุยสอบถามกับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ในเรื่องจุดเด่นของชุมชน และสิ่งที่ต้องการพัฒนาต่อเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการให้มากยิ่งขึ้น จนเป็นที่มาของ “ผ้าพิมพ์ลายสายสัมพันธ์สามเชื้อชาติ”
ต้นแบบผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี “ผ้าพิมพ์ลายสายสัมพันธ์สามเชื้อชาติ “ เกิดจากการค้นคว้าลวดลายผ้าประจำจังหวัดนนทบุรี ความสำคัญของลวดลายมรดกศิลปะที่คงเหลืออยู่ในท้องถิ่น ที่สื่อถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองนนทบุรี สู่การออกแบบลายผ้าที่ใช้ และนำลวดลายกระเบื้องเคลือบ มาประยุกต์เป็นลวดลายผ้า ที่สื่อความหมายของลายผ้าอัตลักษณ์ ประกอบไปด้วย รูปแบบของสีทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานสามชาติพันธุ์ ไทย จีน และมอญ ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกัน คือ ความศรัทธาที่มีต่อบวรพระพุทธศาสนา โดยความหมายของสีที่นำมาใช้ คือ สีชมพู หมายถึง ความศรัทธา สีเขียว สีแดง หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร วัฒนธรรม และความเจริญรุ่งเรืองของเส้นทางการค้าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มาประยุกต์ใช้ร่วมกันกับผ้าไหมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์สืบทอดมายาวนาน
สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการที่ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติฯ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ส่งเสริม และเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าไทย ให้คงอยู่คู่แผ่นดิน อีกทั้งเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วประเทศ และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย
บรรยงค์ จันทร์รอด