ปางช้างแม่สา MOU กับ ม.แม่โจ้ วิจัยผลิตปุ๋ยขี้ช้างอินทรีย์คุณภาพสูง พร้อมร่วมมือกับสมาคมกาแฟและชาไทย ปลูกกาแฟอราบีก้าโดยใช้ปุ๋ยขี้ช้างอินทรีย์แห่งแรกของโลก มั่นใจได้ผลผลิตกาแฟสูตรพิเศษ หอมกรุ่น รสชาติละมุน
ที่โรงผลิตปุ๋ย The Chang Village ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ( MOU) การวิจัยผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ กับ ดร.สุกรี อยู่สุข คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ร่วมทั้งการแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างสมาคมกาแฟและชาไทย และปางช้างแม่สา เพื่อร่วมกันผลิตกาแฟสูตรพิเศษครั้งแรก เพื่อนำออกจำหน่ายนำรายได้กลับมาเลี้ยงช้าง เป็นการสืบสานตำนาน 44 ปี ปางช้างแม่สา และช่วยอนุรักษ์ช้างไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กล่าวว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ปางช้างแม่สาได้รับผลกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลายเป็นศูนย์ จนกระทบกับรายได้ ขณะที่ปางช้างมีภาระต้องเลี้ยงช้างเกือบ 90 เชือก รวมทั้งพนักงานและควาญช้างกว่า 500 คน แต่ละเดือนมีภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 5 ล้านบาท แม้หลังโควิด 19 เริ่มคลี่คลายและปางช้างแม่สากลับมาเปิดให้บริการ แต่เราได้ปรับเปลี่ยนหันมาเลี้ยงช้างแบบธรรมชาติ ปลดโซ่ตรวน และปลดแหย่ง ยกเลิกการแสดงช้างทุกชนิด เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาซื้ออาหารป้อนช้าง หรือร่วมกิจกรรมดูแลช้างที่เราจัดเตรียมไว้
ขณะเดียวกันปางช้างแม่สา ได้หันมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ คือ มูล หรือ ขี้ช้าง ซึ่งช้างในปางถ่ายไว้มากกว่าวันละ 5 ตัน เพื่อนำทำปุ๋ย โดยปัดฝุ่นโรงงานผลิตปุ๋ยเดิมที่นายชูชาติ กัลมาพิจิตร บิดาและผู้ก่อตั้งปางช้างแม่สาเคยทำไว้ จากนั้น ได้ ติดต่อไปยังดร.ตะวัน ฉัตรสูงเนิน รองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ฝ่ายบริการ –วิชาการ มหาวิทยาลยแม่โจ้ และผู้อำนวยการศูนย์เกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ เพื่อมาช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรปุ๋ย และต่อยอดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแห้ง หรือ โบกาฉิ สูตรมูลช้างคุณภาพสูงเพื่อการเพาะปลูก ทั้งในรูปของปุ๋ยสำเร็จรูป และแบบกระถางต้นไม้ ที่สามารถย่อยสลายได้เอง
ดร.ตะวัน บอกว่า ผลจากการวิเคราะห์ปุ๋ยขี้ช้างอินทรีย์ ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร พบว่ามีสารอาหารหลัก และสารอาหารรอง อยู่ในสัดส่วนที่สูง ส่วนความชื้น และสิ่งปลอมปน ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ส่วนโลหะหนักก็แทบจะไม่มีเลย ทำให้เรามั่นใจว่าปุ๋ยมูลช้างที่ผลิตจากปางช้างแม่สา มีความปลอดภัยในการทำเกษตรอินทรีย์ คาดว่าในอนาคตจะเร่งพัฒนาให้ปุ๋ยที่นี่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งลดระยะเวลาในการหมักให้น้อยลง ให้เหลือเพียง 2 เดือน
ด้าน ดร.ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและชาไทย มองว่า พื้นที่ของปางช้างแม่สาเหมาะสมกับการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบีก้า เพราะมีสภาพป่าธรรมชาติ ในระดับความสูงที่เหมาะสม จากนั้นจะนำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้างมาใส่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งเดียวในโลก และจากการตรวจสอบปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้างมีคุณสมบัติมากมาย เนื่องจากช้างทานอาหารที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี คาดว่ากาแฟที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้างจะมีมูลค่าสูง และมีรสชาติเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มีกลิ่นของสมุนไพร และมีรสชาตินุ่มละมุน
กรรณิกา วชิรโสภาพรรณ