ฉลอง 238 ปี ศรีสะเกษ บันทึกประวัติศาสตร์โลกทอผ้าเบญจศรี 283 เมตร เพื่อสืบทอดฝีมือช่างทอผ้าจากรุ่นสู่รุ่น
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานโคปุระ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เกาะห้วยน้ำคำ) อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานเฉลิมฉลอง 238 ปี จ.ศรีสะเกษ กิจกรรม “ร้อยดวงใจจากภูมิปัญญาสู่ผืนผ้าชาวศรีสะเกษ” ซึ่ง จ.ศรีสะเกษ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ศรีสะเกษ ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การมอบประกาศเกียรติคุณบัตรให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 22 อำเภอ และการแสดงนิทรรศการของหน่วยงานราชการและสถานศึกษา โดยกิจกรรมที่สำคัญของการจัดกิจกรรมนี้ คือ การทอผ้าพื้นถิ่น จ.ศรีสะเกษ ที่เรียกว่า ผ้าทอเบญจศรี ความยาว 238 เมตร จากทุกอำเภอของ จ.ศรีสะเกษ ร่วมกันทอขึ้น เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์โลก เพื่อส่งมอบให้กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ เพื่อนำไปเก็บรักษาและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ต่อไป โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และมี นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน มีนายธงชัย เจริญพานิชย์กุล นายสำรวย เกษกุล นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิตร นายวิชัย ตั้งคำเจริญ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน มาให้การต้อนรับและร่วมพิธีในครั้งนี้
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบค้น รวบรวมรักษามรดกภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นถิ่น ด้วยเทคนิคการทอ การยกดอก การมัดย้อม เกิดเป็นลวดลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น จ.ศรีสะเกษ สืบทอดฝีมือช่างทอผ้าจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นถิ่นไม่ให้สูญหาย จึงได้กำหนดให้มีกิจกรรมการทอผ้าพื้นถิ่น จ.ศรีสะเกษ แส่วผ้าแต่ละชิ้นต่อกันด้วยลายโบราณ ซึ่งได้รวบรวมผ้าได้ทั้งหมด จำนวน 179 ชิ้น ความยาวรวมทั้งสิ้น 283 เมตร ซึ่งจะได้นำไปเก็บรักษาไว้ในหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลแก่ประชาชนและเยาวชนรุ่นหลังสืบไป
นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ผ้าทอเบญจศรีทอจากวัสดุธรรมชาติ 5 ชนิด ที่พบในพื้นที่ ได้แก่ ผลมะเกลือ ดินปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ดินทุ่งกุลา ใบลำดวน เปลือกไม้มะดัน มาย้อมไหมหรือฝ้าย ด้วยช่างฝีมือชาวบ้าน ยกดอกเป็นลายลูกแก้ว ย้อมผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน สู่การทอผ้าที่เรียกว่า “ผ้าทอเบญจศรี” ผ้าแบรนด์ศรีสะเกษ โดยนำเอาชื่อต้นของจังหวัดคือ “ศรี” เป็นคำนำหน้าชื่อ เช่น ผ้าทอศรีลาวา ย้อมด้วยดินลาวาภูเขาไฟ ผ้าศรีกุลา ย้อมด้วยดินจากทุ่งกุลาร้องไห้ ผ้าศรีมะดัน ย้อมจากเปลือกไม้มะดัน ผ้าศรีลำดวน ย้อมจากใบลำดวน และผ้าศรีมะเกลือ ย้อมจากผลมะเกลือ โดยเมื่อทอย้อมเสร็จแล้ว ช่างฝีมือชาวบ้านจะนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า แส่วเป็นลวดลายโบราณ เช่น ลายหางสิงห์ ลายตีนตะขาบ ลายขามดแดง อันเป็นลายดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์ในการเก็บชายผ้าไม่ให้หลุดลุ่ย หรือต่อผ้า 2 ชิ้น ให้เป็นชิ้นเดียวกัน สำหรับทำเสื้อ โสร่ง กางเกง ผสมผสานกับลายประยุกต์ เช่น ลายเชิงเทียน ลายดอกไม้ เพื่อใช้ประดับให้เสื้อผ้ามีความวิจิตรสวยงาม เพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นการอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนสืบต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตนขอชื่นชมที่สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาผ้าทออัตลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้โครงการอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของ จ.ศรีสะเกษ ในการเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เพิ่มช่องทำการจำหน่ายด้วยการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานส่วนราชการ ภาคประชาสังคม ในการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามนโยบายของรัฐบาล (มติ ครม.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63) โดยสวมใส่ผ้าทอเบญจศรี ในทุกวันอังคารและวันศุกร์ อีกทั้ง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้จัดทำโครงการ “ศรีสะเกษพร้อมใจนุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดี วิถีพอเพียง” ในทุกวันอังคาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้ประชาชนชาวศรีสะเกษได้สวมใส่ผ้าไทย และยังทำให้ผู้ประกอบการโอทอปมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายอีก 1 ช่องทางด้วย.
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ