มอบพระพรหมสี่หน้า นำขึ้นประดิษฐานบนศาลที่เมืองใหม่ช่องสะงำ

ศรีสะเกษ-หลวงพ่อพุฒร่วมกับคุณชไมมาศ ชาติเมธากุล มอบพระพรหมสี่หน้าที่เมืองใหม่ช่องสะงำ เพื่อนำขึ้นประดิษฐานบนศาลพระพรหม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองใหม่ช่องสะงำ

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ที่เมืองใหม่ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ น.ส.ชนมณัฐ รอดบุญธรรม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระพรหมสี่หน้าขึ้นประดิษฐานบนศาลพระพรหมเมืองใหม่ช่องสะงำ สำหรับองค์พระพรหมสี่หน้า ได้รับความเมตตาจากพระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.)และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา พระอาจารย์เทียนชัย ชยทีโป เจ้าอาวาสวัดเทพสรธรรมมาราม จ.ปทุมธานี และคุณชไมมาศ ชาติเมธากุล ประธานกรรมการบริษัท คริสติน่า สุขภัณฑ์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมมอบพระพรหม เพื่อนำขึ้นประดิษฐานบนศาลพระพรหม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองใหม่ช่องสะงำ มีการประกอบพิธีพราหมณ์ พิธีถวายพวงมาลัยและจุดธูปเทียนบูชาพระพรหมสี่หน้า พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีบวงสรวง พิธีทำบุญตักบาตร โดยมี นางสุวรรณา วรรณศรี นายอำเภอภูสิงห์ พร้อมด้วย รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนชาว ต.ไพรพัฒนา มาร่วมพิธีครั้งนี้

น.ส.ชนมณัฐ รอดบุญธรรม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2546 เป็นต้นไป มีเส้นทางหมายเลข 67 เป็นถนนเชื่อมโยงด้านการค้า และการท่องเที่ยวจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำไปสู่อารยธรรมขอมโบราณ ใน จ.เสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้แก่ นครวัด นครธม ระยะทาง 130 กม. พื้นที่เมืองใหม่ช่องสะงำ อยู่ห่างจากชายแดนไทย บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้ จ.ศรีสะเกษ ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2546 ถึง 15 พ.ค.2576 จ.ศรีสะเกษ ในฐานะจังหวัดนำร่องในการบริหารงานแบบบูรณาการ (CEO) ได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ช่องสะงำ ตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า จ.ศรีสะเกษได้ดำเนินการก่อสร้างซุ้มประตูเมืองใหม่ช่องสะงำ จำนวน 1 แห่ง ศาลพระพรหม จำนวน 1 แห่ง ศาลตายาย จำนวน 1แห่ง และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบในบริเวณด้านหน้าเขตพื้นที่เมืองใหม่ช่องสะงำ เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวอันเป็นการยกระดับรายได้และการสร้างอาชีพของประชาชนในพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2561 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ

แต่เนื่องจากได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ ปี 2562 เป็นต้นมา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดพิธีอัญเชิญพระพรหมขึ้นประดิษฐานบนศาลพระพรหมเมืองใหม่ช่องสะงำได้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นมา อ.ภูสิงห์ จึงได้ประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องและสภาวัฒนธรรมอำเภอภูสิงห์ เห็นว่า จึงเห็นควรดำเนินการจัดพิธีอัญเชิญ พระพรหมขึ้นประดิษฐานบนศาลพระพรหมเมืองใหม่ช่องสะงำ ในวันพฤหัสบดีที่ 9 ธ.ค.2564

พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ศิษย์เอกผู้สืบทอดมรดกธรรมของหลวงหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน กล่าวว่า “พระพรหม” เป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสาม ‘ตรีมูรติ’ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เป็นที่เคารพศรัทธาสืบต่อถึงศาสนาพุทธอย่างกลมกลืนมาแสนนาน เป็นพระเจ้าผู้สร้างผู้ลิขิตความเป็นไปของทุกสรรพชีวิต เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ เป็นผู้รู้ความเคลื่อนไหวของสรรพชีวิต และทรงรับฟังคำอธิษฐานของผู้ศรัทธาเสมอ ผู้บูชาพระพรหมและทำความดี จะได้รับพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการ อาตมาภาพจึงได้ร่วมกับ พระอาจารย์เทียนชัย ชยทีโป เจ้าอาวาสวัดเทพสรธรรมมาราม จ.ปทุมธานี และคุณชไมมาศ ชาติเมธากุล ประธานกรรมการบริษัทคริสติน่า สุขภัณฑ์ ประเทศไทย จำกัด มอบพระพรหมสี่หน้าเพื่อนำขึ้นประดิษฐานบนศาลพระพรหมที่เมืองใหม่ช่องสะงำ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลและเพื่อความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองใหม่ช่องสะงำต่อไป.

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม