โคราช : สายบุญทั่วอีสานร่วมงานบุญพระเข้าปริวาสกรรม

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.65 ที่วัดป่าสมบูรณ์ ต.บ้านใหม่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา พระครูสุภาจารคุต เจ้าคณะตำบลวังน้ำเขียว เขต 2 เจ้าอาวาสวัดป่าสมบูรณ์ ได้จัดให้มีพิธีเข้าปริวาสกรรม หรืองานบุญเข้ากรรม โดยมีพระภิกษุจำนวน 60 รูปและพ่อขาวแม่ขาวร่วมถือศีลฟังธรรมกว่า 50 คน เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 -23 ต.ค.65

พระครูสุภาจารคุต กล่าวว่า งานเข้าปริวาสกรรมของวัดป่าสมบูรณ์นั้นจัดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมาก่อนโควิด-19 จะระบาด จะมีพระสงฆ์มาร่วมเข้าปริวาสกรรมไม่น้อยกว่า 100 รูป และประชาชนมาร่วมใส่บาตรในทุกวันตอนเช้าเป็นจำนวนถึงวันละ 2-3 พันคนเลยทีเดียว แต่หลังโควิด-19 ประชาชนก็มาร่วมงานงานบุญตักบาตรในตอนเช้าวันละกว่า 1 พันคนทุกวันในตอนเช้า บางวันก็ 2-3 พันคน โดยจะเข้าแถวยาวรอบๆ วัดระยะทางกว่า 500 เมตรเลยทีเดียว วันนี้เป็นวันสุดท้ายมามากถึง 3000 คนเลย เพราะทางวัดจะเตรียมขันข้าวไว้ให้ชาวบ้านใส่บาตร วันนี้เตรียมไว้ 2300 กว่าขัน ชาวบ้านที่มาก็จะมาจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงทั้งบุรีรัมย์ ชัยภูมิ

สิ่งที่ได้จากงานบุญนี้ทำให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันสร้างความสมัครสมานสามัคคี และหล่อหลอมให้เป็นคนรู้จักสัมมาคารวะ เคารพผู้อาวุโสในชุมชน รู้จักการแยกแยะรู้จักการให้อภัยแก่กัน ก็คือให้คนในชุมชนอยู่ด้วยการอย่างมีคุณธรรมไม่โลภ โกรธ หลง ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ถือชั้นวรรณะ เจ้าอาวาสวัดป่าสมบูรณ์กล่าว

จะสังเกตได้ว่าชาวบ้านที่นี่จะนำลูกเด็กเล็กแดง และคนในครอบครัวมาร่วมงานบุญกันอย่างคับคั่ง มีทุกเพศทุกวัย วัยรุ่นก็เยอะ วัยทำงานก็เยอะ เด็กเล็กๆ นี่มาร่วมใส่บาตรกันแทบทุกครัวเรือนเลยทีเดียว ซึ่งภาพแบบนี้นับวันจะหาดูได้ยากเนื่องจากผู้คนในปัจจุบันมักจะไม่ค่อยนำลูกหลานเข้าวัด ทำให้เด็ก ๆ และเยาวชนห่างไกลจากวัด และมักจะถามพ่อแม่เสมอว่า บุญคืออะไร ตัวบุญเป็นอย่างไรไม่เคยเห็น

สำหรับ งานบุญเข้าปริวาสกรรม เป็นการเข้ามาร่วมรักษาศีลในที่ใดที่หนึ่งรวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด หรือพระสงฆ์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ส่วนญาติโยมแม่ออกแม่ตน ผู้อยากได้บุญกุศลก็จะให้ไปทานรักษาศีลฟังธรรม ผู้คนมีความเชื่อกันว่า หากทำบุญแด่พระสงฆ์ในช่วงที่ท่านเข้ากรรมจะได้อานิสสงฆ์สูง เพราะในยามที่พระสงฆ์เข้ากรรมถือเป็นช่วงที่เคร่งวินัยและบริสุทธิ์มากที่สุด การเข้ากรรมของพระสงฆ์ก็เปรียบได้กับการอยู่กรรมของแม่ลูกอ่อน หรือหญิงที่พึ่งจะคลอดลูกใหม่ที่จะต้องอยู่กรรม ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมทั้งเรื่องการกินและกิจวัตร

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งแม่และลูกจะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วช่วงระยะเวลาการเข้ากรรมของพระสงฆ์นั้น เป็นช่วงที่ท่านแสดงซึ่งอาบัติที่เคยกระทำมา และยอมรับในการทำผิดนั้น มิได้บริสุทธิ์กว่ากาลที่ผ่านมา หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อระลึกถึงการกระทำอันเป็นบาปที่ทำมาตลอดเข้าพรรษา หรือตั้งแต่กำเนิด เป็นการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติที่หนักรองลงมาจากปราชิก ทำพิธีวุฏฐานพิธี ซึ่งเป็นระเบียบอันเป็นเครื่องออกจากอาบัติ อันเป็นพิธีกรรมที่ทำให้จิตใจไม่หมองมัว และเป็นความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในปัจจุบัน ชาวอีสานก็ยังให้ความสำคัญกับงานบุญนี้อยู่ แม้จะมีจำนวนลดน้อยลงบ้างตามกาลเวลา เป็นการสืบทอดศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ให้สังคมเกิดความเป็นสุข นั่นคือจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของประเพณีพิธีกรรมของชาวอีสาน ซึ่งเป็นความสำคัญและงดงามมากในอดีตกาล.

ภาพ-ข่าว กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม