หนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” คติธรรม พระธรรมเทศนา “หลวงปู่ดุลย์ อตฺโล”
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้ไปพบหนังสือเล่มหนึ่ง เห็นปกด้านหลังเขียนว่า “… จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิต เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ… “
พลิกมาดูหน้าปก เป็น หนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” ที่บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา ของ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ ดูลย์ อตุโล ) รวบรวมและบันทึกโดย พระโพธินันทมุนี วัดบูรพาราม อ.เมือง จ. สุรินทร์
ผมชอบใจ คำสอนของหลวงปู่ ที่สั้นๆแต่ความหมายลึกล้ำนัก หลวงปู่ดูลย์เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สมัยแรกๆ ที่ได้ร่วมเดินธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆอยู่นานหลายปี
ท่านเน้นการปฏิบัติให้พิจารณาจิตในจิต จนรู้แจ้งหลักธรรมแท้จริง คือ “จิต” จิตเราทุกคนนั่นแหละคือหลักธรรมสูงสุด ที่อยู่ในจิตใจเรา
ผมหยิบเอา คำสอน ที่ท่านกล่าวไว้… ได้เปิดมาดูบ่อยๆ พอดี มีเพื่อนในเฟสบุ๊ค ขอให้ขยายความหมาย ในถ้อยคำเหล่านั้น…..
ผมคงอธิบายได้เพียงระดับหนึ่ง ตามพื้นความรู้เท่าที่มี ก็ถือว่าเป็นการคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน
หลวงปู่อธิบาย คำจำกัดความ สั้นๆ ของ “อริยสัจสี่” อันประกอบ ด้วย
“ทุกข์ ” คือ ผลที่มาจากจิตที่ส่งออกนอก
“สมุทัย” เหตุแห่งทุกข์ คือจิตที่ส่งออกนอก
“นิโรธ” การดับทุกข์ คือผลที่เกิดจากจิตเห็นจิต
“มรรค” วิธีการดับทุกข์ คือการที่จิตเห็นจิต
คงต้องเริ่มทำความเข้าใจ คำว่า “ทุกข์” กับ คำว่า “จิต” ก่อน
ทุกข์…..คำนี้ ไม่ใช่ ทุกข์แบบเดียวกับ ภาษาไทย ที่หมายถึงสิ่งที่เราไม่อยากได้ ไม่อยากเจอ หรือเศร้าโศกเสียใจ ประมาณ นั้น
.
แต่หมายถึง สิ่งต่างๆ ทั้งรูปธรรม นามธรรม ที่ไม่สามารถคงอยู่สภาพเดิมได้ตลอด ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาประกอบกันเป็น ระยะๆ เช่น ก้อนหินที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิ อากาศ จากสิบปี ร้อยปี หมื่นปี มันจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ยกเว้น ต้องมีการใส่ปัจจัยเติมเข้าไปตลอดเวลา
.
ต้นไม้ เครื่องเรือน ร่างกายของเรา สามี ภรรยาของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ต่างเป็น ทุกข์
.
ทุกข์ทั้งหมดนี้ เป็นทุกข์ที่มีอยู่ตามปกติของมัน แต่มันจะกลายมาเป็น ทุกข์ในใจ ก็เมื่อจิตใจเรา ไปยึดถือสิ่งเหล่านี้เข้ามา ว่าเป็น เรา เป็นของเรา
.
จิต….. มันทำหน้าที่ โดยอาศัยเครื่องมือ ที่รับอารมณ์เข้ามา ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยแสดงอาการ รู้ รับ จำ คิด
.
เมื่อตาเห็นรูป เกิดการรู้ และรับ (รู้สึก) ตามมาด้วยการจำได้(ต้องมีข้อมูลชุดเดิม ซึ่งเป็น อดีตขณะ) และ การคิดตามมา (ใช้ปัจจุบันกับอดีต แล้วปรุงแต่งเป็นความคิด เป็น อนาคตขณะ)
.
ขบวนการนี้ เกิดรวดเดียว เช่น เรามองเห็นผู้หญิงเดินมา ทันทีที่เห็นเกิด การเห็นคือการ รู้ เกิดการ รับ เกิดการ จำ ว่าแบบนี้เรียกว่าสวยไม่สวยมีการเปรียบเทียบจากข้อมูลเดิม แล้วให้คุณค่าต่อมาทันที ซึ่งคือการคิด
.
จะเห็นว่า เราอยู่กับ ปัจจุบันขณะสั้นมากๆ แต่เราอยู่กับ อดีตและอนาคต ที่ปรุงเป็นภาพเป็นหน้ากากสวมทับสิ่งที่รับรู้ จนไม่สามารถเห็นของจริงของแท้ได้
.
ทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมดา ก็กลายมาเป็น ทุกข์ในใจ ยาม ที่จิต ส่งออกนอก
.
จิตที่ส่งออกนอก นี้คือ จิตที่ ไม่อยู่กับ ปัจจุบันขณะ แต่เป็นจิต ที่ หวนหาอดีต ท่องไปอนาคต จากอาการของจิต ที่ทำหน้าที่ ในจำ กับ คิด เท่านั้น (หน้าที่จิตคือ รู้ รับ จำ คิด )
.
หลวงปู่จึงกล่าวว่า ” จิตที่ส่งออกนอก เป็น สมุทัยสาเหตุแห่งทุกข์
.
ผลจากการที่จิตส่งออกนอก เป็นทุกข์ (ทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน จิตไปเกี่ยวเอามาไว้ในใจ กลายเป็นทุกข์ในใจ )
.
คำว่า “ทุกข์ในใจ” นี้ ต้องมาขยายความอีกที
.
ทุกข์ในใจ(ความหมาย ภาษาไทย) คือ ทุกข์ในใจ ภาษาธรรม
.
สุขในใจ (ความหมาย ภาษาไทย ) ก็คือ ทุกข์ในใจ ภาษาธรรม
.
ดังนั้นในภาษาธรรม จึงมีแต่ ทุกข์ เท่านั้น นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรอีก ยกตัวอย่างเช่น
.
1.คนที่ถูกล๊อตเตอรี่ ดีใจ มีความสุขมาก จนนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หัวใจเต้นแรง เดี๋ยวยิ้ม เดี๋ยวขมวดคิ้ว ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเก็บเงินอย่างไรดี
.
สภาวะกายกับใจของเขาตอนนี้ เป็นทุกข์ (ภาษาธรรม) เพราะไม่คงสภาพเดิม อยู่แบบคงที่ไม่ได้
.
2.คนที่ถูกโจรขึ้นบ้าน เสียใจมาก เป็น ทุกข์ จนนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หัวใจเต้นแรง เดี๋ยวร้องไห้บางทีร้องจนหัวเราะเสียสติ ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรต่อไป
.
สภาวะกายกับใจของเขาตอนนี้ เป็นทุกข์ (ภาษาธรรม) เพราะไม่คงสภาพเดิม อยู่แบบคงที่ไม่ได้
.
.
การที่จิตอยู่กับ อดีต(จำ)และอนาคต(คิด) คือเอาอดีตมาเป็นเครื่องปรุงอนาคต แล้วทอดทิ้งปัจจุบันขณะ
.
จึงทำให้เราไปเกี่ยวเอาทุกข์ เข้ามาเสมอ การเอาจิตดูจิต จึงเป็นการดูปัจจุบัน เป็นการฝึกจิตรับอารมณ์ที่ไหลเข้ามา ทางทวารทั้ง6 อัน ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตามที่เป็นจริง
.
มีโฆษณาชุดหนึ่งที่ดีมาก ที่เด็กหกล้ม แล้วเหลือบตาดูแม่ แม่คนหนึ่งจะรีบไปปลอบ อีกคนยกห้ามไว้ แล้ว ยิ้มให้เด็ก พร้อมบอกว่าไม่เป็นไร ให้ลุกขึ้น เด็กจึงลุกขึ้นแล้วไปเล่นต่อ โดยไม่ร้องไห้
.
ในวินาทีที่เด็กคนนี้ หกล้ม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
.
จิต ทำหน้าที่ รู้ การกระทบที่ผิวกาย
.
จิตทำหน้าที่ รับ (ความรู้สึก) ที่ผิวกาย แน่นอน ต้องเจ็บกาย
.
ผู้ใหญ่ ที่เจอสภาพนี้ ก็จะเป็นแบบเดียวกัน
ทีนี้เด็กที่ จิตใจยัง ผุดผ่อง ยังไร้เดียงสา เขายังไม่มีชุดข้อมูล คือ (จำ) มาประกอบการตัดสินใจ (คิด)เพื่อแสดงออก ในเสี้ยววินาทีที่มองมาผู้ใหญ่คือเสี้ยวหนึ่งของจิต ในการบันทึก การ จำ แล้วต่อด้วยการปรุงคิด เพื่อแสดงออกอย่างไรอย่างหนึ่ง
.
ถ้าผู้ใหญ่ วิ่งเข้ามาโอ๋ แล้วบางคนทุบตี ที่พื้นว่า เป็นเหตุให้หนูเจ็บ(ใส่ชุดข้อมูล จำกับคิด ให้เด็ก )
.
เด็กคนนี้เมื่อโตขึ้น เราคงพอคาดเดาได้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ประเภทไหน เด็กคือทรัพยากร ที่เราจะปั้นจะแต่ง ให้เป็นอย่างไร อยู่ที่ผู้ใหญ่จริงๆ
.
คราวนี้ พวกเราที่โตๆกันแล้ว บางคนก็จวนลาลับโลก อยู่ดีๆ จะมาทำให้จิต เห็น จิต ที่เป็น ปัจจุบันขณะไม่ใช่เรื่องง่าย ยากมาก เพราะไม่ใช่การคิดเอาเข้าใจเอา
.
ทุกวันนี้เราตื่นขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ พอเปิด ทำการ จิตเราก็โลดแล่นไปตามอารมณ์ ที่ทะลักเข้ามา รู้ กับ รับ ผ่านไปเร็วมาก แต่อยู่กับ จำและคิด ตลอดเวลา
.
.
“สติปัฏฐานสี่” เท่านั้น คือวิธีที่เราจะอบรมฝึกจิตเรา ให้อยู่กับ ปัจจุบัน เพื่อสร้างทางใหม่ขึ้นมาให้กับจิตตนเอง เป็นทางซึ่งสงบ ไม่สัดส่าย โลดแล่น ไปตาม อารมณ์ที่เข้ามาตลอดเวลา
.
อาจเรียกว่า ถนนเก่า ที่เราใช้ เป็นคลื่น เป็นหลุม ทำให้เรา บางครั้งก็ ยินดี บางครั้งก็ ยินร้าย จิตใจจึงขึ้นๆลงๆ ฟูๆ แฟบๆ ไม่แน่นอน
.
ยามที่ทางใหม่ ที่เราค่อยๆสร้างขึ้นมา ทีละเล็กละน้อย เป็นรูปร่างขึ้นมา จิตที่อาศัยทางใหม่ ที่ราบเรียบ สงบ ย่อมเป็นที่พอใจแก่จิต ยามนั้น เราจึงเป็นบุคคลที่ฝึกดีแล้ว สมควรแก่คำเรียก ที่ว่า มนุษย์
สติปัฏฐานสี่ เป็นไปตามความหมายของ มรรคที่มีองค์8 การมีสติตั้งรำลึก ที่ กาย ยาววาหนาคืบมีสัญญาและใจครองนี้ จึงมี สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือกาย วาจา ปกติ
เพราะจากการตั้งสติ ด้วยความพยายามไม่ย่อหย่อน จึงเป็น สัมมาวายมะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
การตามระลึกที่อยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้เห็นสัจจะความเป็นจริง ของสิ่งที่ประกอบเป็นตัวเรา ของเรา จนเกิดการคลายการยึดติด นี่จึงเป็น สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ
การคลายการยึดติดในทุกข์ ที่เราไปเกี่ยวเข้ามาออกจากจิตได้ จึงเป็นความสงบอย่างแท้จริงนี่คือ “นิโรธ” สงบนี้ย่อมไม่ใช่ความสุขในภาษาไทยและ ไม่ใช่ความทุกข์ในภาษาไทย
หลวงปู่ดุล จึงกล่าวว่า “…จิตเห็นจิต เป็น มรรค…”
ทั้งหมดนี้ จึงอธิบายความหมาย ตามที่หลวงปู่ได้สอนสรุปให้ไว้
ดังนั้นทั้งหมดนี้ ต้องมาจากการปฏิบัติ ทำขึ้นมา จนที่หลวงปู่เรียกว่า “จิตเห็นจิต” ไม่ใช่อ่านเข้าใจ คิดจนเข้าใจ แล้วจะกลายเป็นจิตเห็นจิต
ดังเช่น เราจะว่ายน้ำได้ ย่อมไม่ใช่เพียงอาศัยการอ่านตำราสอนว่ายน้ำจนเข้าใจ แล้ว ว่ายน้ำได้ แต่ต้องลงมือหัดค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น จึงจะบรรลุผลทีละขั้น.
ขอบคุณข้อมูล สมชัย