กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่เก็บหรือซื้อเห็ดป่าในช่วงหน้าฝนนี้ ให้ระมัดระวังเห็ดพิษเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ พบข้อมูลจากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วย 85 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 45-54 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และ กลุ่มอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหน้าฝน หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บมาปรุงอาหาร พร้อมหลีกเลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับดื่มสุรา
วันที่ 13 มิ.ย.2563 นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น มีความห่วงใยต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่นิยมการรับประทานเห็ดป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่สามารถนำมารับประทานได้และเห็ดที่มีพิษซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารร่วมกับเห็ดชนิดอื่น จะอาจทำให้เกิดพิษได้ ซึ่งเห็ดที่เก็บได้หากเป็นเห็ดที่ยังดอกตูมอยู่จะยังแยกชนิดของเห็ดไม่ได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือเห็ดที่สามารถรับประทานได้ เช่นเห็นไข่ห่านเหลือง และเห็ดไข่ห่านขาว ทั้งสองชนิดขณะที่ยังเป็นดอกตูมอยู่ลักษณะจะเหมือนเห็ดระโงกหินทั้งขนาด สี ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย จึงขอเตือนประชาชนไม่ให้เก็บเห็ดที่มีลักษณะดอกตูมมารับประทาน แม้จะเพียงดอกเดียวก็ตาม
พิษของเห็ดที่รับประทานเข้าไปจะไปสะสมอยู่ในตับ ทำให้ตับวายและอาจเสียชีวิตได้ใน 14 วัน เห็ดป่าในกลุ่มเห็ดระโงกพิษ ซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นต่างไปในแต่ละภาค ในภาคเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง ภาคอีสานเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน รูปร่างทั่วไปจะคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดที่กินได้โดยเฉพาะเห็ดดอกอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ที่ดอกยังบานไม่เต็มที่ ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ ซึ่ง วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกที่มีพิษทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกก็ไม่สามารถทำลายพิษนั้นได้ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่กินเห็ดพิษเบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา..กรมควบโรค กระทรวงสาธารณสุข