“เพชรชมพู”ยกบทเรียนสิงคโปร์แพ้สงคราม ปลุกคนทั้งชาติร่วมใจปกป้องประเทศ
น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ส่วนตัว นำเสนอมุมมอง ประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์เกี่ยวกับความมั่นคง การปกป้องประเทศ ที่รัฐบาล กองทัพ คนในประเทศต่างพร้อมใจกันให้ความสำคัญ โดยมีข้อความว่า
ความมั่นคงของชาติ ต้องมองหลายด้าน หลายมิติ
ช่วงนี้มีคนพูดถึงเรือดำน้ำ งบประมาณของประเทศ และ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศกันมาก เพชรเลยขออนุญาตมาเล่าถึงประสบการณ์ที่เพชรได้เรียนรู้ตอนที่เพชรเรียนอยู่ที่สิงคโปร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงมาให้ฟังกันค่ะ
ตอนที่เพชรอยู่ชั้นมัธยมฯ ที่สิงคโปร์ เพชรจำได้ว่า วันหนึ่งที่ได้รับความสำคัญมากๆ ในปฏิทินของโรงเรียนคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี หรือวันที่เขาเรียกกันว่า “Total Defence Day” เป็นวันที่ชาวสิงคโปร์ระลึกถึงวันเดียวกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์ถูกญี่ปุ่นยึดครองได้สำเร็จ
จุดประสงค์หลักของการกำหนดให้มีวันหนึ่งของปีเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้โดยเฉพาะ ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนความจำว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากชาวสิงคโปร์ไม่ร่วมมือร่วมใจกันในการปกป้องประเทศ และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือ พลเรือน ในการเสริมสร้างให้ชาติมั่นคง ปลอดภัย และไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใครอีก
Total Defence หรือ การป้องกันประเทศแบบครอบคลุมทุกรูปแบบ แบ่งออกเป็น 6 ด้านด้วยกัน คือ การทหาร พลเรือน เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และ ดิจิทัล (Military, Civil, Economic, Social, Psychological and Digital) หากขาดด้านใดด้านหนึ่งไป ก็จะกลายเป็นช่องโหว่ให้ถูกโจมตีได้
Military Defence คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ให้มียุทโธปกรณ์ และกองกำลังที่เข้มแข็งและทันสมัย มีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือทุกสถานการณ์ รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจกับคนในชาติให้สนับสนุนภารกิจของกองทัพ และร่วมเป็นขวัญกำลังใจให้กับสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมชาติที่เป็นทหารเกณฑ์ หรือเป็นกำลังพลสำรอง
Civil Defence คือ การเตรียมความพร้อมให้พลเรือนในการตอบสนองต่อภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทรัพยากรของรัฐอาจถูกบีบคั้น และอาจจะกระจายไปไม่ทั่วถึง ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน และองค์กรในพื้นที่ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ชาติรอดพ้นจากภัยคุกคามนั้นๆ และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
Economic Defence คือ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การเสริมทักษะใหม่ๆ และพัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม (reskill and upskill) ให้กับแรงงาน เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุน และทำให้ระบบเศรษฐกิจยังคงเชื่อมโยงกับโลกได้ไม่ว่าจะในสภาพแวดล้อมแบบไหน
Social Defence คือ การสร้างความเชื่อใจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลาและการเปิดใจต่อกัน เพื่อแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่าง รวมถึงช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติในสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงเพศ อายุ ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือ ความคิดเห็นทางการเมือง
Psychological Defence คือ เจตจำนงร่วมกันของประชาชนที่จะรักษาวิถีชีวิต และความเป็นชาติไว้ ไม่ว่าภัยคุกคามจะมาในรูปแบบใด ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของชาติ เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ และค่านิยมต่างๆ ที่ทำให้ประเทศสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
Digital Defence คือ การรู้เท่าทันภัยคุกคามทางดิจิทัล และการมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสารที่เราจะส่งต่อให้ผู้อื่น ปัจจุบันมีข่าวปลอมหรือข้อมูลที่คาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในโลกออนไลน์มาก ที่อาจจะสร้างความตื่นตระหนก และความเสียหายต่อประเทศได้ ประชาชนต้องตระหนักว่าทุกคนถือเป็นด่านแรกในการป้องกันประเทศด้านดิจิทัล และต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวเหล่านั้น
โดยสรุปแล้ว Total Defence คือแนวคิดที่ว่า การป้องกันประเทศ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในประเทศมีส่วนร่วม ทุกหน่วยงานตื่นตัวและทำตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ส่วนประชาชนให้การสนับสนุน และ เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างความเข้มแข็ง มั่นคงให้กับประเทศ
เมื่อเราพูดถึงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ เราคงไม่สามารถละเลยด้านใดด้านหนึ่งไปได้ ในยุคสมัยที่มีภัยคุกคามทั้งแบบดั้งเดิม เช่น ทางการทหาร และ เศรษฐกิจ และ ในรูปแบบใหม่ เช่น ทางวัฒนธรรม และโรคระบาด เราจำเป็นที่จะต้องเต็มที่กับทุกด้าน ท้ายที่สุดแล้ว การเตรียมพร้อมไว้ แล้วไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ดีกว่าจำเป็นต้องใช้ แล้วไม่มีทั้งเครื่องมือทั้งทักษะในการตอบโต้ค่ะ
เพชรชมพู กิจบูรณะ
28 สิงหาคม 2563
<a href="http://<iframe src="https://web.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fweb.facebook.com%2Fp.kijburana.page%2Fposts%2F3219498241452220&width=500" width="500" height="784" style="border:none;overflow:hidden" scrolling="no" frameborder="0" allowTransparency="true" allow="encrypted-media">http://<iframe src=”https://web.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fweb.facebook.com%2Fp.kijburana.page%2Fposts%2F3219498241452220&width=500″ width=”500″ height=”784″ style=”border:none;overflow:hidden” scrolling=”no” frameborder=”0″ allowTransparency=”true” allow=”encrypted-media”></iframe>