บจก.โทรคมนาคมแห่งชาติ พร้อมเดินหน้า NT Youth Club สร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

นครพนม-บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พร้อมเดินหน้า เพาะพันธุ์ดี NT Youth Club สร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จังหวัดนครพนม นางสมจิตต์ ธีระชุติกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า 2 บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล ศึกษาดูงานโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club Mini Smart Farming ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ( CSR ) ที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรในการทำการเกษตรแบบลดต้นทุน มีผลผลิตที่น่าพอใจ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกฝังความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนเพื่อนำไปขยายต่อยังครอบครัวและชุมชน

นางสมจิตต์ ธีระชุติกุล เปิดเผยว่า บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นจากการควบรวมของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในปี 2564 เพื่อให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งก่อนหน้านี้ในทุก ๆ ปี ทั้ง 2 บริษัทจะมีกิจกรรม CSR ที่ออกไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถูกวิธี ทั้งการสร้างเพจ สร้างคอนเทนต่าง ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และการให้ความรู้ด้านการเกษตร เมื่อควบรวมกิจการจึงเกิดเป็นโครงการ เพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ที่เป็นการต่อยอดนำนวัตกรรมทางด้านดิจิตอลมาต่อเชื่อมกับการเกษตร ผ่านโครงการ Smart Farming เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกพืชผักต่าง ๆ และนำไปขยายผลต่อยังครอบครัวของตนเองและชุมชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตตามเป้าหมายของบริษัท และในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นนี้ถือว่าโครงการนี้ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียน คณะครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ไปจนถึงผู้บริหารในระดับต่าง ๆ เนื่องจากวิทยากรที่นำมาถ่ายทอดความรู้นั้น เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นกูรูที่ทำงานจริง และคาดว่าในอนาคตเด็ก ๆ จะสามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ และบริษัทก็มีความภูมิใจและพร้อมที่จะต่อยอดออกไปอีกเรื่อย ๆ เป็นการขยายเครือข่าย ซึ่งถ้าโรงเรียนไหนสนใจสามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์จังหวัดทุกจังหวัด ขณะเดียวกันในด้านของสังคมอื่น ๆ ทางบริษัทก็ไม่ได้ เช่น กรณีที่เกิดโควิดแล้วเด็กนักเรียนไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ ทางบริษัทก็ได้สนับสนุนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์แทน เพราะบริษัทอยากพัฒนาให้เด็กทุกคนมีความรู้ความสามารถ เป็นเด็กที่มีคุณภาพ กลายเป็นกลุ่มเพาะพันธุ์ดี ที่จะนำเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ด้านว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอเรณูนคร กล่าวว่า ในเรื่องของการนำอินเตอร์เน็ตหรือระบบดิจิตอลมาใช้ ในส่วนของรัฐบาลนั้นกระทรวงดิจิทัลได้มีโครงการที่เรียกว่าอาสาดิจิทัลในพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับระบบดิจิทัลและระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ และกระทรวงเกษตรก็มีเรื่องของ Smart Farming ซึ่งโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าสามารถเกิดขึ้นจริงได้ สำคัญคือนักเรียนในฐานะที่เป็นลูกเกษตรกรสามารถเห็นภาพแล้วนำไปสื่อสารต่อยังผู้ปกครองได้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ กลายเป็นเกษตรรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องตากแดด ตากฝน แต่สามารถนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับแปลงเกษตร ที่พร้อมสร้างผลผลิตที่สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น และมีตลาดรองรับจากการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ได้.

ข่าว-ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวประจำ จ.นครพนม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม