“ประชุมหารือร่วม สปป.ลาว เชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย – ลาว – จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) พร้อมตรวจเยี่ยมโครงการท่าบก(Dry port) และเขตโลจิสติกส์ (Logistics Park) นครหลวงเวียงจันทน์”
วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2565 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประชุมหารือโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย – ลาว – จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) กับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง ผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ณ กรมโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างนครคุนหมิงกับนครหลวงเวียงจันทน์ ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างลาวและจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวมีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาว มายังไทย ซึ่งขณะนี้ไทยได้มีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ด้วยการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
นายอธิรัฐ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่าย สปป.ลาว ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย – ลาว – จีน ความคืบหน้าการดำเนินงานรถไฟไทย – ลาว การขนส่งสินค้าข้ามแดนทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง พร้อมทั้งได้มีการหารือแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ หนองคาย – เวียงจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย – เวียงจันทน์) ในปัจจุบัน ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร และ 1.435 เมตร อีกทั้งยังสามารถรองรับรถยนต์ได้ด้วย โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ซึ่งจากการหารือร่วมกัน ผู้แทน สปป.ลาว แจ้งว่าฝ่ายลาวยินดีให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยขอให้ฝ่ายไทยออกแบบและจัดทำรายงาน EIA เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการประชุมหารือร่วมกันในการประชุมครั้งถัดไป
ในการนี้ คณะผู้แทนไทย ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงาน การให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารบนเส้นทางรถไฟจีน – ลาว ณ โครงการท่าบก(Dry port) และเขตโลจิสติกส์ (Logistics Park) นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมความพร้อมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างระบบรางของไทย และโครงการรถไฟลาว – จีน.
ภาพ/ข่าว ณัฐพงศ์ อรชร ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา