ศรีสะเกษ 120 ปีกรมชลประทานจัดยิ่งใหญ่เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและความก้าวหน้าโครงการสำคัญในจังหวัด ให้กับส่วนราชการกลุ่มผู้ใช้น้ำผู้นำท้องถิ่น นักเรียนนักศึกษา ได้ทราบ
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทานครบ 120 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มิ.ย. ของทุกปี ซึ่งโครงการชลประทานศรีสะเกษ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา โครงการก่อสร้าง ใหญ่ กลาง เล็ก ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น กิจกรรมภายในงานมีการจัดนิทรรศการ ให้ความรู้ และความสำเร็จของโครงการต่างๆ ที่ชลประทานได้ทำมา จำนวน 12 จุด การเสวนาในหัวข้อ”การปรับเปลี่ยนปลูกพืชมูลค่าสูงในเขตชลประทาน” การประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้มีการประกอบพิธีทำบุญตักบาตรการปล่อยปลาลงไปในอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำคำ โดยมี นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี พล.ต.ธวัชชัย แจ้งประจักษ์ รองแม่ทัพน้อยที่ 2 นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน ของทุกปี กรมชลประทานได้มีการจัดนิทรรศการขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้รูปแบบของการจัดนิทรรศการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และในปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบายเริ่มคลี่คลาย กรมชลประทานจึงได้มีนโยบายให้จัดกิจกรรมและนิทรรศการขึ้นในทุกจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและความก้าวหน้าโครงการสำคัญในจังหวัด ให้กับส่วนราชการ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำท้องถิ่น นักเรียนนักศึกษา ได้ทราบ
นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จ.ศรีสะเกษมีกำหนดจัดนิทรรศการระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565 ณ บริเวณที่ทำการโครงการชลประทานศรีสะเกษ กิจกรรมประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการงานด้านบริหารจัดการน้ำและความก้าวหน้าโครงการสำคัญ รวม 12 จุด ประกอบด้วย 1. โครงการพระราชดำริ จ.ศรีสะเกษ 2. การบริหารจัดการน้ำจ.ศรีสะเกษ 3. โครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยคล้า 4. พื้นที่นำร่องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ อ.เมืองจันทร์/อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ 5. รางวัลชนะเลิศระดับกรม ปี 65 นวัตกรรมกระบวนการ สแกน&คลิก รู้เขตชลประทาน 6. ความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล 7. ความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา 8. ข้าวโพดหลังนา ทางเลือก&ทางรอด 9. ความก้าวหน้าการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ต.ดู่ อ.ศิลาลาด 10. ความก้าวหน้าการก่อสร้าง ปตร.ห้วยสำราญ 11. ความกว้าวหน้าการก่อสร้าง ฝ่ายบ้านสะเต็ง (ฝายพับได้แห่งแรกในภาคอีสาน) 12 น้ำใต้ดิน ..ทางเลือกใช้พื้นที่นอกเขตชลประทาน
นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ก็ต้องขอเรียนว่า ท่านผู้ว่าฯวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษได้มีการขับเคลื่อนเรื่องการบริหารจัดการน้ำของ จ.ศรีสะเกษมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป็นหนึ่งใน 10 วาระจังหวัด ซึ่งจะไปสนับสนุนด้านการเกษตรเพราะว่าพื้นที่ศรีสะเกษส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการบริหารจัดการน้ำซึ่งการบริหารจัดการน้ำทุกท่านก็ทราบว่าจะเป็นแนวคิดในการสร้างฝายสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งปัจจุบันการสร้างเขื่อนใหญ่ ๆ คงเป็นไปได้ยาก เพราะว่าจะกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งวันนี้ที่เน้นคือเรื่องของการกระจายน้ำ ไปยังแหล่งต่างๆ เพราะเรามีข้อมูลว่า จ.ศรีสะเกษสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 600,000,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ว่าเรามีดีมานด์มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 385,000,000 ลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถามว่าทำไมจึงเกิดพื้นที่แล้งซ้ำซากบางจุดของ จ.ศรีสะเกษ สิ่งหนึ่งก็คือการกระจายน้ำเพราะฉะนั้นหลักของการกระจายน้ำก็คือจะต้องมีท่อส่งไปยังพื้นที่ต่างๆซึ่งเป็นแหล่งที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตร แต่ที่ทางชลประทานจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจก็คือการสร้างท่อเพื่อระบายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรต่างๆนั้น ประชาชนจะต้องเข้าใจด้วยว่าจะต้องเสียสละพื้นที่ดินบางส่วน การเสียสละวันนี้เพื่อให้ชลประทานเข้ามาดำเนินการก่อสร้างท่อส่งน้ำเมื่อแล้วเสร็จประโยชน์ก็จะเกิดกับพี่น้องเกษตรกรผู้ใช้น้ำของเราเป็นอย่างมาก.
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ