เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ๒๕๖๕ ว่าที่ร้อยโทสิทธิ์ธนัตถ์ สิทธิบัวศรี ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติในการปรับเปลี่ยน แก้ไข และเสริมสร้างคุณลักษณะทางจิตใจ พฤติกรรม และนิสัยความประพฤติของผู้กระทำผิด ด้วยกระบวนการ/วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กิจกรรมแก้ไขฟื้นฟู หรือโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กระทำผิดมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะของการมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เคารพกฎระเบียบของสังคม ไม่กระทำผิดกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ได้อย่างมีความสุข การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เป็นส่วนหนึ่งของงานควบคุมและสอดส่อง โดยการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไข ปรับปรุง และส่งเสริมให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ด้วยกิจกรรมหลักต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา การอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะชีวิต การจัดให้เข้าค่ายจริยธรรม การจัดให้ทำงานบริการสังคม การเข้าค่ายยาเสพติด รวมทั้งการให้การสงเคราะห์ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีพ อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
ว่าที่ร้อยโทสิทธิ์ธนัตถ์ สิทธิบัวศรี ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ตนจึงได้มอบหมายและให้การสนับสนุน ชมรม TO BE NUMBER ONE สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อดำเนินกิจกรรมตามหลักยุทธศาสตร์ของโครงการ TO BE NUMBER ONE โดยการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในพื้นที่แปลงสาธิต โคก หนอง นา โมเดล ของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับผู้ถูกคุมประพฤติผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาเรียนรู้ อีกทั้ง ผลผลิต (ไข่ไก่) ที่ได้จำหน่าย จะนำเข้าไปเป็นรายได้ของกองทุนชมรมฯ เพื่อเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของโครงการรณรงค์ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE และเพื่อให้สมาชิกชมรมฯได้กู้ยืมเป็นทุนในการประกอบอาชีพ โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะ TO BE คือ การแบ่งปัน.
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ