คลิกอ่านเลย”เที่ยวปันสุข” คืออะไร? มีใครได้รับสิทธิ์บ้าง? และเริ่มเมื่อไหร่
จากสถานการณ์ การท่องเที่ยวในประเทศที่ชะงักงันมากกว่า 2 เดือน จากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้ภาครัฐทั้งกระทรวงการคลัง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยผุดแพ็คเกจมาตรการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีด้วยกัน 2 แพ็คเกจ ได้แก่
แพ็คเกจเที่ยวปันสุข เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เบื้องต้นจำนวน 4 ล้านคน ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ซื้อบัตรกำนัล (วอเชอร์) สำหรับเป็นค่าห้องพักในการท่องเที่ยวข้ามจังหวัด เมื่อประชาชนนำวอเชอร์ดังกล่าวไปเช็คอินห้องพัก รัฐจะโอนเงินคืนให้ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สปา และร้านขายสินค้าที่ระลึก
แพ็คเกจกำลังใจ เพื่อตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 1.2 ล้านคน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยการสนับสนุนงบฯศึกษาดูงาน เดินทางกับบริษัทนำเที่ยวในประเทศทั้งสองแพ็คเกจ มีระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค. 2563
ภาพจาก เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์
ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยว่า กระทรวงการคลัง และการท่องเที่ยวและกีฬา จะใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศหลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยวและบริโภคในประเทศ โดยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มมาตรการแจกเงินเที่ยว คือ ช่วงเดือน ก.ค. เป็นต้นไป ให้มีวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ในช่วงเดือน ก.ค. นี้ “ขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงานกำลังทำการบ้านว่าจะดำเนินการอย่างไร มีข่าวว่าภาคเอกชนท่องเที่ยวเสนอให้แจกเงินคนละ 2,000-3,000 บาท จำนวน 10 ล้านคน เพื่อนำไปท่องเที่ยวนั้น เรื่องนี้หน่วยงานที่รู้เรื่องดีที่สุดว่าเอกชนต้องการอะไร และควรจะดูแลท่องเที่ยวอย่างไร คือ ททท. ดังนั้นหากเขาอยากให้ช่วยอย่างไรคงต้องรอฟังข้อเสนอ”
ทั้งนี้หากการท่องเที่ยวฯ เสนอมาตรการมา กระทรวงคลังพร้อมพิจารณาให้ ซึ่งในเรื่องเงินแจกไม่ใช่ปัญหา แต่มาตรการออกมาต้องเป็นมาตรการที่ดีและตรงจุด และต้องดึงให้คนไทยเที่ยวไทยมากที่สุดคาดว่ามาตรการจะต้องออกมาให้ทันในช่วงวันหยุดชดเชยสงกรานต์ ที่คาดว่ารัฐบาลจะประกาศหยุดให้ในเดือน ก.ค. ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะคาดว่าจะมีการยกเลิกการใช้พระราชกำหนดควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีการระบาดรอบ 2 และให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดได้ตามปกติ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้คนออกไปท่องเที่ยว ตรงตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ