กรมเจ้าท่า จับมือ สวทช. และภาคเอกชน ลงนาม MOU การพัฒนาการผลิตเรือไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี
วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยนายกริชเพชร ชัยช่วย รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านปลอดภัย ได้ลงนามบักทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ณ บริเวณท่าเทียบเรือกรมเจ้าท่า
การลงนามความร่วมมือทั้ง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เรือไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศในระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืนให้ระบบนิเวศทางน้ำ ตลอดจนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนความคิดและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ ร่วมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้จริงในภาคเอกชนและเชิงนโยบายเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแล ส่งเสริมพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย อีกทั้ง กรมเจ้าท่า ยังเป็นหน่วยงานภาครัฐ ในการกำกับมาตรฐาน และทิศทางการพัฒนาเรือไฟฟ้าในประเทศ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชน เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีการประกอบตัวเรือสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการ ร่วมพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีของระบบเรือไฟฟ้า และทบทวนหลักเกณฑ์ข้อกำหนด เงื่อนไข กฎหมาย ในการตรวจเรือไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะนำมาใช้ ดังนั้น ความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีของประเทศไทยให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
พัชรพล ปานรักษ์