วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเถรพลาย ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พระครูพิสุทธิรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย ร่วมกับคณะกรรมการวัดและชาวบ้าน ทำพิธีแห่ผ้า 8 สี และห่มผ้า 8 สี ถวายองค์พระเจดีย์อายุกว่า 400 ปี ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีหนึ่งเดียวในโลก โดยมีพุทธศาสนิกชน ทั้งในสุพรรณบุรี และ ศิษยานุศิษย์จากจังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยว เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้ครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ปราศจากความทุกข์ โดยพิธีแห่ มีทั้งกลองยาว เครื่องแห่ และ ขบวนเชิดสิงโต โดยชาวบ้านได้ร่วมรำวงหน้าขบวนแห่อย่างสนุกสนาน พร้อมกับชมกายกรรมจากคณะสิงโต
สำหรับพิธีแห่ผ้า 8 สี ห่มเจดีย์วัดเถรพลาย ทำติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งความหมายของผ้า 8 สีคือ เป็นสีประจำวันเกิดของแต่ละคน จำนวน 7 สี 7 วัน ส่วนอีก 1 สี คือ สีขาว นั้น มีไว้ สำหรับผู้ที่จำวันเกิดตนเองไม่ได้ ซึ่งผู้ที่มาร่วมงานจะได้ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐาน และเขียนชื่อ เขียน คำอธิษฐานขอพรลงในผ้าห่มเจดีย์ ตามสีวันเกิดของตัวเองได้ พร้อมกับมีพิธีพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ ชัยมงคลคาถา ด้วย
พระครูพิสุทธิรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย กล่าวว่าเจดีย์ดังกล่าวเป็นเจดีย์ยุคโบราณก่อด้วยอิฐ ยอดเจดีย์เป็นเนื้อสำริดเก่าแก่ มีลักษณะดอกบัวหงาย 7 ชั้น สันนิษฐานตั้งชื่อวัดตามประวัติที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ แล้วขุนศึกผู้ใหญ่แวะพักรบเพื่อให้ทหารและช้างพลายได้พัก ก่อนที่จะเดินทางไปบ้านหนองสาหร่าย จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อวัดเถรพลาย ซึ่งมีความหมายว่า ช้างของขุนศึกผู้ใหญ่ และก่อนที่จะเดินทางออกรบเพื่อกระทำยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้สร้าง “พระขุนแผน” ขึ้น เพื่อมอบเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหาร และส่วนหนึ่งนำบรรจุกรุไว้ที่เจดีย์แห่งนี้ด้วย ซึ่งนอกจากจะมีพิธีดังกล่าวแล้วผู้ที่มาร่วมงานยังจะได้ปิดทองกราบไหว้พระหลวงพ่อโต หลวงพ่อดำ หลวงพ่อสีชมพู และ มีดตัดหวายลูกนิมิต ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองศรีประจันต์อีกด้วย
วัฒนพล มัจฉา ผู้สื่อข่าว จ. สุพรรณบุรี