พิธีสักการะ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
วันนี้ (9 ก.ค.63) ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร( น้อย อาจารยางกูร) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานพิธีสักการะพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประจำปี 2563 พร้อมด้วย นายจิตติน ตั้งกงพานิช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ นางอุทัย พัฒนพิชัย วัฒนธรรมจังหวัดฯ นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ทายาทของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ร่วมพิธี จากนั้นเดินทางไป ณ อาคารเรือนรับรอง “พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา” ประกอบพิธีบวงสรวงพระยาศรีสุนทรโวหาร( น้อย อาจารยางกูร) /พิธีทางศาสนา /การอ่านทำนองเสนาะสดุดีเชิดชูเกียรติฯ โดยนายประยุทธ เรืองสวัสดิ์ ศิลปินดีเด่น สาขาวรรณศิลป์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ปี2545 จากนั้นประธานพร้อมผู้เข้าร่วมพิธี ร่วมเปิดหอเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)และเยี่ยมชมนิทรรศการ “พรรณไม้ในนิพนธ์พระยาศรีสุนทรโวหารฯ และตำนานอาหารจากนิติสารสาธก”
นายจิตติน ตั้งกงพานิช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2365 ณ บ้านริมคลองโสธร ตำบลโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มเรียนหนังสือไทยที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่ออายุครบบวชเรียนได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและพระธรรมวินัยจากสำนักต่างๆ หลายสำนักจนเชี่ยวชาญ และเมื่ออายุครบบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดสระเกศวรมหาวิหาร และเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จนได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ และลาสิกขาบท ขณะอายุได้ 32 ปี ท่านเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในกรมอาลักษณ์ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาอีกด้วย จนได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสุนทรโวหารญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยะพาหะ และท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2434 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นนักการศึกษาปราชญ์ภาษาไทย ผลงาน อาทิเช่น แบบเรียนหลวงชุดมูลบทบรรพกิจ (มูน – บด – บัน – พะ- กิด) 6 เล่ม บทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน (สัด – ตะ – วา – พิ- ทาน) เป็นต้น รวมผลงานที่ท่านนิพนธ์มีไว้ทั้งหมด 32 เรื่อง ล้วนมีคุณค่าทั้งด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม นับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลของชาติ ที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างยิ่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้กำหนดให้วันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่านเป็นวันจัดงานสักการะพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และในปี พ.ศ.2565 จะเป็นวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาล ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีนโยบายให้จัดตั้งหอเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขึ้น ณ อาคารเรือนรับรอง พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและเกียรติยศ รวมทั้งจัดแสดงผลงานของท่านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายสืบไป นอกจากนี้ท่านได้ถูกเสนอชื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญขององค์การยูเนสโก้ อีกด้วย
ทั้งนี้นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ทายาทของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ให้ความอนุเคราะห์รูปหล่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มาประดิษฐาน ณ หอเชิดชูเกียรติฯ อาคารเรือนรับรอง พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา
…..สราวุฒิ บุญสร้าง ผู้สื่อข่าวภูมิภาคฉะเชิงเทรา