ภูมิปัญญาชาวบ้าน“เย็บจากใบสาคู ”ตกทอดรุ่นต่อรุ่นสร้างงาน สร้างรายได้ ชาวบ้านห้วยลึก สงขลา

ภูมิปัญญาชาวบ้าน“เย็บจากใบสาคู ”ตกทอดรุ่นต่อรุ่นสร้างงาน สร้างรายได้ ชาวบ้านห้วยลึก สงขลา

ภูมิปัญญาชาวบ้าน“เย็บจากใบสาคู ”ตกทอดรุ่นต่อรุ่นสร้างงาน สร้างรายได้ ชาวบ้านห้วยลึก สงขลา

ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ หรือรุ่นปู่ย่า ตายาย หลายๆอย่างยังก่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นด้านความคิด การประดิษฐ์ หรือการทำสิ่งของต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และบางอย่างกลายเป็นอาชีพที่สามารถรายได้ให้กับครอบครัวได้ อย่างเช่นชาวบ้านใน ต.ห้วยลึก อ.ควนเนียง จ.สงขลา ที่ยึดการเย็บจากโดยใช้ใบสาคู ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตกทอดมายาวนาน


นายฉ้วน สุกพรหม อายุ 71 ปี ชาวบ้าน ม.2 ต.ห้วยลึก อ.ควนเนียง จ.สงขลา บอกว่าชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่นี่ มักจะใช้เวลาว่างจากงานประจำ ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยางพารา ในการเย็บจากขาย โดยเฉพาะตนเองเย็บมาตั้งแต่เด็กแล้ว โดยหัดมาจากพ่อและแม่ ทั้งนี้จะใช้ใบสาคูซึ่งมีอยู่ใกล้ๆบ้านทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และปลูกเสริมบ้าง
ส่วนขั้นตอนการทำเริ่มตั้งแต่ไปเลือกตัดใบสาคูที่แก่พอดี ใบสวยไม่ฉีกขาด นำมาดึงหรือชาวบ้านเรียกว่า ริด ออกจากกาบใบ ก่อนนำมาจัดเรียงให้เป็นระเบียบ และใช้ครั้งละ 4 -5 ใบ วางซ้อนให้เหลื่อมกัน ตามความต้องการว่าจะให้จากมความหนาแค่ไหน ก่อนพันทบกับไม้ตับ ( ทำจากไม้ไผ่ )ที่ผ่าเตรียมไว้ และใช้เชือกซึ่งทำจากต้นคล้าที่มีความเหนียวทนทานโดยธรรมชาติ เย็บและดึงให้แน่น ทำแบบนี้จนสุดปลายไม้ก็ได้จาก 1 ตับ ขนาดความยาว 1.20 เมตร กว้างประมาณ 50 ซม. เสร็จแล้วก็นำไปตากประมาณ 2 – 3 แดด
ในปัจจุบันจากซึ่งทำจากใบสาคู ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้า ที่ต้องการนำไปใช้ทำหลังคาขนำ ซุ้มที่นั่งในร้านอาหาร ตกแต่งรีสอร์ทที่เน้นความสวยงามเป็นธรรมชาติ หรือทำหลังคาโรงเรือนต่างๆ ทั้งนี้จากใบสาคูมีความทนทานราวๆ 6 – 7 ปี ราคาขายตับละ 15 บาท ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทำตามออเดอร์ของลูกค้า และหากมีเวลาว่างจากงานประจำก็จะเย็บเก็บไว้บ้าง ซึ่งเป็นงานอดิเรกหรือเป็นอาชีพเสริม ที่สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง


ต้นสาคู ในพื้นที่มีทั้งที่ขึ้นเรียงรายตามธรรมชาติ และชาวบ้านปลูกเสริมขึ้นบ้าง สำหรับการใช้ใบในการเย็บจากจะใช้ใบจากต้นที่มีอายุประมาณ 4 – 5 ปี ส่วนประโยชน์อื่นๆของต้นสาคูที่ปัจจุบันนี้มีความนิยมมากเป็นพิเศษก็คือ การนำแป้งจากต้นสาคูมาบริโภค ซึ่งนั่นก็เป็นอีกภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยโบราณกาลจนถึงในยุคปัจจุบัน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม