ยูเนสโกส่งมอบใบประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าไม้สักห้วยทากครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล อำเภองาว จังหวัดลำปาง ระบุมีพันธุ์ไม้สักที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง นายพูนสถิตย์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง พร้อมด้วย นางทิพวรรณ เศรษฐพรรค์ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ และนายพีระเมศร์ ตื้อตันสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำสำเนา “ประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก” ซึ่งลงนามโดยผู้อำนวยการยูเนสโก มามอบให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยมีนายสุรพล บุรินทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อมอบให้แก่พื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโกต่อไป
สำหรับพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก ประกาศจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2520 อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.บ้านหวด ต.บ้านอ้อน ต.บ้านโป่ง อ.งาว จ.ลำปาง ภายใต้ชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าไม้สักห้วยทาก และ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษปรากฏใน Website ของ UNESCO ว่า Huay Tak Teak Biosphere Reserves เริ่มต้นจากป่าสาธิตงาว และขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ 184,000 ไร่ เพื่อตอบสนองบทบาทของความเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ในฐานะพื้นที่สาธิตทั้งด้านการสร้างการอนุรักษ์ ส่งเสริมการพัฒนา และสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่พื้นอื่นๆในระดับนานาชาติ
ด้วยความโดดเด่นของพื้นที่ที่เป็นแหล่งไม้สักที่มีพันธุกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนกลไกการกำกับดูแลและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑล ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จ.ลำปาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน และมีผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑล แต่งตั้งจากบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ การดำเนินงานที่ผ่านมาของพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก เน้นที่การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่สงวนชีวมณฑลในจังหวัดลำปาง
โดยเฉพาะ การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนในพื้นที่ เช่นกิจกรรมค่าย การเป็นวิทยากรให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ การส่งเสริมความรู้เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องที่ เช่น ความพยายามในการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากไผ่ การรับฟังความคิดเห็นของท้องถิ่นถึงทิศทางการพัฒนาที่สร้างความยั่งยืน นางทิพวรรณ เศรษฐพรรค์ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่สงวนชีวมณฑลในประเทศไทย มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1)
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา 2) พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ 3) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จ.ลำปาง และ 4) พื้นที่สงวนชีวมณฑระนอง จ.ระนอง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานหลักการประสานงานโปรแกรมด้านมนุษย์และชีวมณฑลในประเทศไทย เล็งเห็นถึงประโยชน์ของสถานะพื้นที่สงวนชีวมณฑลซึ่งเป็นหนึ่งในสามสถานะพื้นที่ที่มีความสำคัญของยูเนสโก (มรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล อุทยานธรณีโลก) ที่จะสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ อ.งาว จังหวัดลำปาง และพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย ผ่านทางแนวคิดของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่ต้องการเป็นพื้นที่สาธิต ค้นหาคำตอบในการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความเจริญของมนุษย์ ส่วนจังหวัดลำปางนั้นพื้นที่ดังกล่าวถือว่ามีความโดดเด่นในเรื่องพันธุ์ไม้สักที่มีคุณภาพลำต้นจะตรง เบา ไม้สวย และควรอนุรักษ์ ซึ่งได้มีการแบ่งออกเป็น 3 โซน คือโซนอนุรักษ์ โซนที่สามารถทำเศรษฐกิจ และโซนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน
ภาพ-ข่าว / ขวัญสุริยัน ศรีวิกูล จ.ลำปาง