ไขข้อสงสัย “ทุเรียนภูเขาไฟ” นอกจากรสชาติจะเป็นที่ติดอกติดใจคอทุเรียนแล้ว ลักษณะพิเศษอีกอย่างที่สำคัญ คือ กลิ่นไม่ฉุน สามารถนำขึ้นรถ หรือเอาไว้ในห้องแอร์ได้อย่างสบาย เป็นเพราะอะไร มีคำตอบ
จากการลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เที่ยวนี้ ถึงกับออกปากว่าขอมีความสุขหน่อย ถือเป็นการมาเยือนฐานการเมืองของ “ตระกูลไตรสรณกุล” ที่ส่งตัวแทนอย่าง “น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล” หรือ “กวาง”เข้าไปทำหน้าที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีจนโปรแกรมนี้เกิดขึ้นก็คือ “รองฯกวาง” นั่นเอง
ขนาดนายกฯ ยังยอมรับว่าดีใจที่ได้มาพบทุกกลุ่ม ซึ่งก็ครบทุกกลุ่มจริงๆ มีการเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในจังหวัด เด็กนักเรียน ครู แพทย์ ข้าราชการ มาพบปะนายกฯ ในบรรยากาศไม่เป็นทางการ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่พลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนถิ่นอีสานใต้เมืองนี้คือ “ทุเรียนภูเขาไฟ”
ก่อนหน้านี้ “รองฯ กวาง” ก็เคยพาคณะผู้ใหญ่ในจังหวัดเข้าพบนายกฯ ถึง “ทำเนียบรัฐบาล” มาแล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์ของขึ้นชื่อของจังหวัด ว่ากันว่า หลังจากมีการนำเสนอภาพข่าวออกไปออเดอร์ “ทุเรียนภูเขาไฟ” สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่า ได้พรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์อย่าง “นายกฯ” จนคนศรีสะเกษอยากให้ช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ “หอมแดง-กระเทียม” ด้วยเพื่อจะได้มียอดสั่งซื้อมากขึ้น ล่าสุด ก็เพิ่งได้ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตามรอย “ทุเรียนภูเขาไฟ” ไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น การมาศรีสะเกษ ถ้าไม่ได้ซื้อ “หอมแดง-กระเทียม” ติดมือกลับไป หรือไม่ได้ชิม “ทุเรียนภูเขาไฟ” ก็เหมือนกับมาไม่ถึง เพราะนอกจากรสชาติหวานมันอร่อยแล้ว ความพิเศษอีกอย่างของทุเรียนที่นี่คือ กลิ่นไม่ฉุนหรือไม่เหม็นนั่นเอง แม้จะนำขึ้นรถ หรือเอาไว้ในห้องแอร์
เรื่องนี้มีคำตอบว่าทำไม “ทุเรียนภูเขาไฟ” ถึงแตกต่างจากทุเรียนของที่อื่น โดย “นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้อธิบายให้ฟังว่า สาเหตุที่ “ทุเรียนภูเขาไฟ” มีรสชาติดี กลิ่นอ่อน หรือไม่เหม็นนั้น เป็นเพราะองค์ประกอบของภูมิประเทศ ทั้งเรื่องดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น
ในเรื่องของดินที่นี่มีแร่ธาตุซัลเฟอร์ปริมาณที่เหมาะสม ดินสามารถระบายน้ำได้ดี เพราะถ้าดินอุ้มน้ำจะเกิดการหมักตัวของแร่ธาตุที่อยู่ในดิน เมื่อต้นทุเรียนดูดซับสารอาหารขึ้นไปเลี้ยงผลและลำต้น น้ำในส่วนนั้นที่มีการหมักจะถูกกักเก็บอยู่ในผลทุเรียน ซึ่งหากมีจำนวนมากจะทำให้ทุเรียนเกิดโรคไส้ซึม เพราะดูดน้ำมาเก็บไว้มากเกินไป ไม่สามารถระบายไปไหนได้ และหากพื้นที่ใดมีความชื้นในบรรยากาศสูง ก็จะยิ่งจะทำให้ทุเรียนมีกลิ่นแรง แต่ของจ.ศรีสะเกษองค์ประกอบทุกอย่างพอเหมาะพอดี ทุกปีจะส่ง “ทุเรียนภูเขาไฟ” ไปวางขายตามห้างฯ ก็แทบจะไม่ส่งกลิ่นให้เวียนหัวแต่อย่างใด และสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเกษตรกรในจังหวัด
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า ตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลให้ “ทุเรียนภูเขาไฟ” ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และปีหน้าจะพัฒนาสายพันธ์ทุเรียนให้มี DNA ขึ้นเป็นเฉพาะสายพันธ์ของที่นี่อีกด้วย