กรมการค้าภายใน จัดประชุมหารือมาตรการช่วยเหลือด้านการตลาดลำไยภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63. ระหว่างเวลา 09:30 น. ถึง 12:00 น. ณ ห้องประชุมเดอะแกรนด์จามจุรี รีสอร์ท ลำพูน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตผลลำไยภาคเหนือ และเชื่อมโยงตลาด ร่วมกับ นายสำเริง ไชยเสน รอง ผวจ.ลำพูน , นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน , นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์ จ.ลำพูน , นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์ จ.เชียงใหม่ , สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย , สมาคมการค้าผู้ประกอบการผลไม่ไทยภาคเหนือ , ตัวแทนเกษตรกร , ผู้ประกอบการค้าลำไย จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ , ผู้แทนห้าง Modern Trade เพื่อรับทราบสถานการณ์การผลิต การตลาดลำไย จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ และหารือมาตรช่วยเหลือด้านการตลาดลำไยภาคเหนือ ปี พ.ศ.2563
สถานการณ์การผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 635,394 ตัน แบ่งเป็น ในฤดู 386,065 ตัน นอกฤดู 249,329 ตัน โดย จ.ลำพูนมีผลผลิต รวมทั้งสิ้น 249,964 ตัน จ.เชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 264,070 ตัน ปัจจุบันผลผลิตลำไยภาคเหนือออกสู่ตลาดแล้ว ร้อยละ 15 โดยผลผลิตลำไยในฤดูจะออกสู่ตลาดระหว่างเดือน ก.ค. ถึง ส.ค. และจะออกมากในช่วงเดือน ส.ค.
สถานการณ์การค้าลำไยในฤดู ประมาณการปริมาณลำไยภาคเหนือ 386,065 ตัน จะส่งออกสดช่อประมาณร้อยละ 58 แปรรูปอบแห้งร้อยละ 37 สดช่อบริโภคในประเทศร้อยละ 5 ราคาโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงจากหลายสาเหตุ อาทิ (1) ผลผลิตลำไยมีขนาดเล็ก โดยมีสัดส่วนขนาด AA ร้อยละ 10 , A ร้อยละ 35 , B ร้อยละ 35 และ C ร้อยละ 20 จากปัญหาภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า (2) ขณะที่การเก็บผลผลิตพบปัญหาลำไยแตกจากฝนชะ (3) ตลาดส่งออกหลักคือจีนและอินโดนีเซีย มีความต้องการลำไยขนาด AA และ A มากที่สุด (4) ขาดแคลนแรงงานในการทำลำไยช่อหรือมัดปุ๊ก เกษตรกรจึงต้องขายเป็นรูดร่วง ซึ่งราคาต่ำกว่ามาก (5) ตลาดการค้าลำไยอบแห้งรอสถานการณ์ เนื่องจากพ่อค้าชาวจีนไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูสินค้าในพื้นที่ได้
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยกรมการค้าภายในได้อนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการรวบรวมและกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 3 บาท โดย สนง.พาณิชย์ จ.ลำพูน และ สนง.พาณิชย์ จ.เชียงใหม่ ได้เสนอโครงการกระจายผลผลิตลำไยสด ออกนอกแหล่งผลิต 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้ประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว
นอกจากนี้ สนง.พาณิชย์ทั้งสองจังหวัด ยังได้เตรียมเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมให้มากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้ประกอบการที่จะดำเนินการกระจายผลผลิตลำไยในช่วงที่มีผลผลิตมาก นอกจากนี้ได้วางมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกผลไม้เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นค่าบริหารจัดการในอัตรากิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งสองมาตรการนี้คาดว่าจะช่วยดึงราคาลำไยสดในประเทศให้สูงขึ้นตามกลไกการแข่งขันของตลาด และอีกส่วนหนึ่งคือโครงการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการรับซื้อผลผลิตลำไย ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 10 เดือน จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการและเสริมสภาพคล่องได้อีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกันอีกด้วย
จากการประชุมหารือกับเกษตรกร และผู้ประกอบการ อธิบดีกรมการค้าภายในได้รับทราบปัญหาจากเกษตรกรและให้คำมั่นที่จะช่วยหาแนวทางในการลดต้นทุนค่าขนส่งให้แก่เกษตรกรที่จำหน่ายผลผลิตผ่านทางระบบไปรษณีย์แบบ Delivery พร้อมทั้งจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการในบางส่วนที่อาจเกิดความล่าช้าในการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่ผู้ประกอบการค้าลำไยในพื้นที่หลายแห่งได้ยืนยันว่ามีความสามารถที่จะรับซื้อผลผลิตลำไยได้มากกว่าวันละ 100 ตัน
เพื่อส่งไปแปรรูปในต่างประเทศ มีต้นทุนต่ำกว่าการแปรรูปในประเทศไทย พร้อมทั้งฝากถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย จ.ลำพูนว่าขอให้มั่นใจว่ากรมการค้าภายในจะดูแลเกษตรกรอย่างดีที่สุด และขอให้เกษตรกรดูแลผลผลิตลำไยให้ดีทั้งขณะที่อยู่บนต้นและภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว แม้ว่าขณะนี้ราคาจะยังไม่สูงมาก แต่หากผู้ประกอบารสามารถเริ่มกระจายผลผลิตได้มากขึ้น ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเอง เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก..อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยในที่สุด
กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน รายงาน