นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี จังหวัดเชียงใหม่ น้อมนำแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คนไทยอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน .
เมื่อเวลา 9.oo น.วันที่ 24 กค. 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี อำเภอแตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมกับพล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจิตอาสา กว่า 1,000 คน ร่วมถวายพระพร และกล่าวคำปฏิญาณ “เราทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” จากนั้นร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ให้กลับสู่ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า มีเป้าหมายดำเนินงานทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 2.68 ล้านไร่ โดยระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะเร่งด่วน จะมีจังหวัดที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 28 ก.ค. 2563 โดยปลูกไม่ต่ำกว่า 1,010 ไร่ และทำฝายเพิ่มความชุ่มชื้นของระบบนิเวศ พื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง ส่วนจังหวัดอื่นนอกเหนือจากจังหวัดเร่งด่วน อีก 71 จังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร ปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ รวมทั้งประเทศ 7,100 ไร่ จากนั้นระยะที่ 2 และ 3 ดำเนินการปี พ.ศ.2563-2570 จะเป็นการฟื้นฟูป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่า
สำหรับกล้าไม้ที่นำมาปลูกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง น้ำพุเจ็ดสี ในครั้งนี้ประกอบด้วย บุนนาค จำปา สัก ประดู่ป่า แคหางค่าง คำมอกหลวง พะยอม ตะเคียนทอง รวงผึ้ง และรัง โดยนายกรัฐมนตรีจะปลูก “ต้นสัก” ซึ่งต้นสักที่นายกรัฐมนตรีปลูกนี้ได้มาจากแม่พันธุ์เสาชิงช้า T1 โดยสักต้นดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณหน่วยประสานงานป้องกันและรักษาป่า (นปป.) จังหวัดแพร่ หมู่ที่ 2 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย โดยต้นสักนี้ มีขนาดเส้นรอบวงบริเวณโคนต้น 360 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 114 เซนติเมตร ความสูงจากโคนถึงยอดไม้มากกว่า 40 เมตร อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของธนารักษ์พื้นที่แพร่ และกทม. นำมารักษาสายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากตายอดแล้ว จัดส่งให้ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ขยายพันธุ์ต่อ และทำการcutting ขยายพันธุ์เพื่อจัดเตรียมไว้แจกจ่ายให้ประชาชน และในวันที่ 14 มกราคม 2562 ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ ได้นำสัก T1 ที่ขยายไว้เป็นแม่พันธุ์ นำมาจัดนิทรรศการที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดชำสัก T1 ไว้เป็นแม่พันธุ์และให้ทางศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ทำการบำรุงรักษาจนเจริญเติบโตขึ้น และได้นำต้นกล้าสัก T1 ดังกล่าวมาปลูกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกล้าสักพันธุ์ดีนี้ จะมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าสักจากการเพาะเมล็ด เฉลี่ย 5 ปี
ทั้งนี้ พื้นที่ฟื้นฟูป่าในจังหวัดเร่งด่วน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมกันทั้งปีไม่ต่ำกว่าปีละ 11,000 ไร่ โดยเป้าหมายในการดำเนิน “โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า” ในระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ 2563 – 2570 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งหมด ร้อยละ 55 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ร้อยละ 35, ป่าชุมชนร้อยละ 5, ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15
กรรณิกา วชิรโสภาพรรณ