การประชุมเตรียมการกิจกรรมทำโป่งเทียม โดยใช้อากาศยานร่วมกับภาคพื้นดิน ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฏาคม 2563 เวลา 9.30 น. ณ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง นายวีระ ขุนไชยรักษ์ ผู้อำนายการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นางสาวกานต์จรัส เอียดทองใส นายอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยองได้เดินทางมาร่วมเป็นประธานในการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทำโป่งเทียมโดยใช้อากาศยานร่วมกับภาคพื้นดิน
ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยมีนายพรชัย วนัสรุจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง นายธรรมนูญ เต็มไชย หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี นางกรรัตน์ ยั่งยืน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ดร.โนชญ์ ชาญด้วยกิจ นายกสมาคมอนุรักษ์กลุ่มป่าตะะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนกรมทหารพรานที่ 13 และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ที่ศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จังหวัดระยอง
นายธรรมนูญ เต็มไชย ได้กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออก ซึ่งการทำโป่งเทียมได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้วในพื้นที่ตอนบนของอุทยานแห่งชาติ แต่ในพื้นที่ป่าลึกเข้าไปนั้น ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาในการใช้แรงคนในการลำเลียงเกลือ และแร่ธาตุ แต่ในครั้งนี้ ได้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพบก ในการลำเลียงเกลือและแร่ธาตุ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง วัสดุเหล่านั้นเข้าไปยังพื้นที่ป่าลึกที่เป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่าตามผลการศึกษาของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติฯ
โดยมีหน่วยงานร่วมสนับสนุนภารกิจภาคพื้นดิน เช่น อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง กรมทหารพรานที่ 13 ศึกษาของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติฯ อำเภอเขาชะเมา องค์การบริหารส่วนตำบลเขาชะเมา มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ สำนักงานจังหวัดระยอง และจิตอาสาจากหมู่บ้านคชานุรักษ์ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง โดยเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะเริ่มเดินเท้าตั้งแต่ วันที่ 26 กรกฎาคม 2563
เพื่อเข้าป่าไปรอรับเกลือที่จะลำเลียงด้วยเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นี้ ซึ่งนอกจากเป็นกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่า ตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์แล้ว ยังเป็นกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ และพระราชทานชื่อโครงการฯ ว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” ตามพระบรมราโชบาย ที่จะให้อนุรักษ์ป่าและช้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างอย่างมีสุข
และทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2542 เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของคนกับช้างป่า