อธิบดีธัญญาเข้ม..ยึดคืนพื้นที่นายทุนใหญ่เจ้าของห้างดัง เร่งทดแทนระบบนิเวศน์ธรรมชาติให้สมบูรณ์ จัดกิจกรรมปลูกป่า “สวนป่าธรรมชาติเอราวัณ” เฉลิมพระเกียรติร.10
วันที่ 30 ก.ค. 2563 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)เปิดเผยว่าตามนโยบายนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ นายทุนบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด และเร่งนำมาฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ นางคณิสรา เชฐบัณฑิตย์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นอนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)และประชาชนในท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันปลูกป่าใน”โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า” ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอีกทางหนึ่ง ให้กับประชาชน
สำหรับที่ดินดังกล่าวนี้นั้น ได้ยึดคืนมาจากนายทุนใหญ่เจ้าของห้างดัง ชาวกรุงเทพมหานคร เป็นที่ดินตามมติครม.30มิ.ย.2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จำนวน 39 ไร่ ที่นายทุนได้ซื้อมาจากราษฎรเดิมในหมู่บ้าน ที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือราษฎรผู้ยากจน ให้ผ่อนผันอยู่อาศัย หรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติได้ แต่ห้ามมีการ ซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ หรือโอนสิทธิ ในที่ดินดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมานายทุนใหญ่ เจ้าของห้างดังได้ถูกเจ้าหน้าที่ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณโดยมิได้รับอนุญาต
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 อั ยการจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งไม่ฟ้องนายทุนใหญ่ เจ้าของห้างดัง โดย สรุปคำวินิจฉัยได้ว่า “ราษฏรเจ้าของที่ดินเดิมที่ได้รับการผ่อนผัน ให้อยู่อาศัย หรือทำกิน ตามมติ ครม.30 มิ.ย. 2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้มาขอกู้ยืมเงินกับผู้ต้องหา เป็นจำนวนเงิน2ล้าน7แสน 5พันบาท และได้นำที่ดินที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัย หรือทำกิน ตามมติครม. 30 มิ.ย. 2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ดังกล่าว มาค้ำประกันเงินกู้ยืม กับผู้ต้องหาเอาไว้ โดยมีสัญญาชำระเงินกู้ยืมคืนภายใน 6 ปี ให้กับผู้ต้องหา จึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ผู้ต้องหาเป็นเจ้าของ ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าว พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง”
ต่อมาผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการทำนิติกรรมอำพราง โดยทำนิติกรรมสัญญากู้เงินอำพราง นิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดิน เป็นการขัดกับกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ถึงแม้อัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้นายทุนใหญ่เจ้าของห้างดัง หลุดพ้นในคดีอาญา แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ก็ยังมีอำนาจทางปกครอง ฟ้องขับไล่ยึดคืนที่ดินดังกล่าว กลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินได้
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้นายทุนใหญ่เจ้าของห้างดัง ให้ออกจากที่ดินดังกล่าว มิฉะนั้นจะประกาศคำสั่งขับไล่ ตามมาตรา 35 (1) พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ฉบับใหม่ หากฝ่าฝืนไม่ยอมออกจากที่ดินดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และปรับอีกวันละ 1 หมื่นจนกว่าจะออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งทางนายทุนใหญ่ เจ้าของห้างดัง ก็ยินยอมออกจากที่ดินดังกล่าวแต่โดยดี
ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จึงได้นำที่ดินดังกล่าว ที่ได้ยึดคืนมาจากนายทุนใหญ่ เจ้าของห้างดัง จำนวน 39 ไร่ มาปลูกป่าเพื่อแสดงความจงรักภักดีตาม “โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า” ดังกล่าว โดยการปลูกไม้ป่ามีค่า เสริมเข้าไปในพื้นที่ ประกอบด้วย ประดู่ แดง มะค่าโมง พะยูง ตะเคียนทอง สักและอื่นๆรวมจำนวน 1,000 ต้น เพื่อให้ป่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพสมบูรณ์โดยเร็วขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกซ้ำในอนาคต เพราะพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่สวยงาม ติดถนนทางหลวง อยู่ในเขตชุมชน จึงได้ทำป้ายหินเทียมไม้ติดไว้หน้าพื้นที่ดังกล่าว อย่างถาวร และตั้งชื่อในพื้นที่แห่งนี้ใหม่ว่า “สวนป่าธรรมชาติเอราวัณ” เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ป่ามีค่า ให้กับนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป
วุฒิเดช ก้อนทองคำ ผู้สื่อข่าว จ. กาญจนบุรี