“ชลากาศยาน”นามพระราชทาน โครงการวิจัยเครื่องบินทะเล พบแสงสว่างปลายอุโมงค์ เตรียมเข้าสู่สายการผลิตใช้งานจริง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามเรียกขานเครื่องบินทะเล ว่า “ชลากาศยาน” เป็นพระมหากรุณายิ่ง ต่อทีมงานวิจัยของกองทัพเรือ โดยมี พลเรือโท สมหมาย ปราการสมุทร หัวหน้าโครงการเครื่องบินทะเล พลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์
นาวาโท ดร.บพิธ ทศเทพพิทักษ์ นักวิจัย นับเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรของกองทัพเรือ นับเป็นก้าวสำคัญ คงได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ต่อเมื่อ โครงการวิจัย กองทัพเรือ และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนา โครงการวิจัยจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเล แบบ 2 ที่นั่งไปสู่การได้รับรองมาตรฐานใบสมควรเดินอากาศ
จากการประชุม คณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ (กพน.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นความพยายาม ความตั้งใจจริงในโครงการวิจัยเครื่องบินทะเฃ กองทัพเรือ ที่มีการขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเครื่องบินทะเล ในการสำรวจ ลาดตระเวน ค้นหา รักษาความปลอดภัย การกู้ชีพ และการเข้าถึง อย่างมีประสิทธิภาพ ครบทุกมิติองค์ประกอบด้านภารกิจความมั่นคง โดยเฉพาะภารกิจของ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.)จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการบูรณาการผลงานวิจัย ผลักดันโครงการเครื่องบินทะเล กองทัพเรือ สู่การใช้งานจริง และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
พลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนายทหารโครงการวิจัยจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเลกองทัพเรือ ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กล่าวว่า จากการที่ พลเรือโท สมหมาย ปราการสมุทร ท่านได้มีแนวคิด ความมุ่งมั่นอย่างสูง ในการผลิตเครื่องบินทะเล สามารถขึ้น-ลงได้ทั้งบนบกและในน้ำ ปฏิบัติอยู่ในอากาศได้นานไม่น้อยกว่า 2.5 ชม. บินไกลสุดไม่น้อยกว่า 200 ไมล์ทะเล รัศมีปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 100 ไมล์ทะเล เพดานบินไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุต บินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ติดระบบการสื่อสาร เครื่องมืออำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ และอื่น ๆ ตามมาตรฐานสากล และตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ เพื่อไว้ใช้เองในกองทัพเรือ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ผลงานนวัตกรรม กลุ่มวิศวกรรมยานรบและอากาศยาน เมื่อปี พ.ศ.2559
และกล่าวอีกว่า การที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกันโดยมี พลเรือตรี เอก สารสาส กรรมการผู้จัดการ นาวาเอก ปริศฎางค์ เทศขุตทด รองคณะกรรมการผู้จัดการ ก็เพื่อบูรณาการสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ในสาขาวัสดุศาสตร์ วิศวกรรม และการผลิต รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยให้สู่จุดหมายใช้งานได้จริง จึงมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลวิจัยให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้คำปรึกษา การออกแบบ การดำเนินการทอดสอบ รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพของผลงานที่ได้ดำเนินการวิจัย พัฒนาเพื่อส่งมอบให้กองทัพเรือ นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตอีกด้วย
พัชรพล ปานรักษ์ รายงาน