อ.เฉลิมชัย นำทีม เปิดบ้านศิลปินเชียงราย ฟื้นเศรษฐกิจ
วันที่ 24 ส.ค.63 ที่ห้องประชุมบุษราคัม โรงแรมไดมอนด์ปาร์คอินน์ เชียงราย รีสอร์ท จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางจิตรา สิทธนานุวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าว “เปิดบ้านศิลปิน” โดยมีศิลปินชาวเชียงราย และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทางสมาคมขัวศิลปะเชียงรายได้คัดเลือกบ้านของศิลปินใน จ.เชียงราย ได้จำนวน 10 หลัง ที่จะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมเพื่อส่งเสริมผลงานทางศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีและการท่องเที่ยว
โดยกำหนดเปิดเส้นท่องเที่ยวตามบ้านศิลปินตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63 โดยมีเส้นทาง ตามถนนสาย อ.ขุนตาล-เทิง เพื่อชมบ้านศิลปินนิติพล เลาย้าง อ.ขุนตาล ศิลปินศัจกร แก้วกุลา อ.เทิง และศิลปินมานิตย์ กันทะสัก ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ส่วนวันที่ 2 ก.ย.ไปยัง อ.พาน เพื่อชมบ้านศิลปินกำพล มะโนใจ ศิลปินขวัญ กันทะบุตร และศิลปินสราวุฒิ คำมูลชัย ผู้ปั้นอนุสาวรีย์นาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม วีระบุรุษถ้ำหลวง และวันที่ 3 ก.ย.เริ่มจากที่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีการจัดให้ชมบ้านศิลปินแก้วฟ้า เกสรศุกร์ อ.เวียงชัย ศิลปินสุรยัน วงศ์โยธา และศิลปินดิษณ์กร สุทธสม อ.เมืองเชียงราย รวมจำนวนทั้งหมด 10 หลัง
นายประจญ ปรัชญ์สกุล กล่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกให้ จ.เชียงราย เป็นเมืองแห่งศิลปะ 1 ใน 3 จังหวัดทั่วประเทศไทยคือเชียงราย นครราชสีมา และกระบี่ เนื่องจากเชียงราย มีศิลปินกว่า 400 คน ซึ่งคาดจะมากสุดในประเทศ จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม โดยนอกจากบ้านศิลปินดังกล่าวที่พยายามเปิดตัวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปเที่ยวชมนอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่แล้ว ทางจังหวัดเชียงรายได้รับงบประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมทางศิลปะในปี 2564 ออกแบบโดยศิลปินขัวศิละเชียงรายเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นซิตี้ ออฟ อาร์ต หรือเมืองแห่งศิลปะ และจากนี้จะขยายไปยัง 18 อำเภอและส่วนราชการต่างๆ ด้วย
นางจิตรา สิทธนานุวัฒน์ กล่าวว่า จ.เชียงราย ได้เปิดบ้านศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมได้ไปแล้วจำนวน 60 หลัง โดยปี 2562 ได้เปิดจำนวน 30 หลัง สำหรับปี 2563 นี้ได้รับงบประมาณจากทางจังหวัด 1 ล้านบาทเพื่อดำเนินการเปิดเพิ่มเติมอีก 10 หลัง ซึ่งกิจกรรมนั้นนอกจากจะเปิดเส้นทางไปตามบ้านหลังต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรม “ข่วงศิลปินพื้นบ้านล้านนา” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงราย วันที่ 5-6 ก.ย.นี้เพื่อถ่ายทอดและสาธิตภูมิปัญญารวมทั้งมีกิจกรรมการมีส่วนร่วมหรือเวิร์คช็อปอีกด้วย
ด้านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเหล่าศิลปินได้มีการพัฒนาผลงานทางศิลปะที่บ้านหรือสตูดิดของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายไปยังหลายๆ จังหวัด โดยที่ จ.พะเยา ก็ได้เปิดบ้านศิลปินหลังแรกไปแล้วโดยมี จ.เชียงราย เป็นต้นแบบ ซึ่งบ้านศิลปินดังกล่าวสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวได้และยิ่งในปัจจุบันส่วนราชการ นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน คนทั่วไปต่างสนใจศิลปะกันมากขึ้นจึงมีการนำศิลปะมาพัฒนาเพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างล่าสุดที่ จ.พะเยา ได้มีผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นักการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ได้ฟื้นโครงการเดิมที่จะสร้างผลงานทางศิลปะบริเวณกว๊านพะเยาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปพักแทนที่จะเป็นเพียงเมืองผ่าน และได้ขอให้ผมได้ออกแบบผลงานทางศิลปะขนาดใหญ่ไว้บริเวณกว๊านพะเยา ซึ่งก็ออกแบบให้โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ปัจจุบัน จ.พะเยา มีอยู่แล้วจำนวน 100 ล้านบาทจึงอยู่ระหว่างผลักดันและคาดว่าในอนาคต จ.พะเยา จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้นแน่นอน
“สำหรับ จ.เชียงราย เรามีผลงานทางศิลปะต่างๆ กระจายทั่วไปจังหวัดมากมาย เช่น วัดร่องขุ่น บ้านดำ ไร่เชิญตะวัน และยังมีบ้านศิลปินอีกกว่า 60-70 หลัง ดังนั้นจึงมีโครงการจะคัดสรรให้เหลือเพียง 20 หลังเพื่อรับรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นสุดยอดบ้านศิลปิน วัตถุประสงค์เพื่อให้หมาะสมกับการส่งเสริมการตลาดกรณีดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะกระตุ้นให้ศิลปินได้พัฒนาบ้านของตัวเองอยู่เสมอ โดยจะใช้อาคารขัวศิลปะเชียงรายแห่งใหม่ซึ่งจะย้ายไปยังวัดร่องขุ่นในอีก 3 ปีข้างหน้าในการประชาสัมพันธ์บ้านศิลปินแต่ละคน เพราะวัดร่องขุ่นมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจำนวนมากอยู่แล้วจึงสามารถดึงดูดผู้ชื่นชอบให้ไปเยือนบ้านศิลปินตามเส้นทางต่างๆได้สะดวก ซึ่งโครงการจะเริ่มในเดือน พ.ย.2563 นี้และบ้านที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเข็มกลัดจากผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในอนาคตก็จะมีการคัดสรรและมอบรางวัลเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีการพัฒนาบ้านศิลปินตลอดไป” อาจารย์เฉลิมชัยกล่าว
ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย