คกก.ชุดวิชา ขอต่ออายุอีก 30 วันอ้างทำปฏิรูปกฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม หลัง 31 ส.ค.นี้ส่งแค่รายงานฉบับใหญ่ แย้มมีคนเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง โว กก.ชุดสางคดีชี้ช่อง ผบ.ตร.เปิดทางออกหมายจับใหม่ 3 ข้อหา
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.เวลา 17.00 น. ที่สำนักงานกฤษฎีกา อาคารเทเวศร์ นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการติดตามความคืบหน้า กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอสที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า ที่ประชุมได้หารือกันเพื่อทำรายงานเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 โดยจะทำโครงสร้างและรวบรวมเพื่อนำไปสู่การทำรายงานฉบับใหญ่ เพราะครบกำหนด 30 วัน โดยจะดำเนินการยื่นในวันที่ 31 ส.ค.นี้อย่างไรก็ตาม บางประเด็นอาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะเวลา 30 วันที่ทำหน้าที่ถือว่าน้อยมาก ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หยุด และถึงที่สุด ถือว่าเราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเสนอนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งการทำสำนวนคดีตั้งแต่แรกว่ามีข้อบกพร่องอะไร และขั้นตอนของอัยการก็ใช้เวลานาน เนื่องจากมีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ เราได้ขอความเห็นจากอดีตอัยการสูงสุดถึง 4 คน เพื่อให้ช่วยดูว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นกรณีที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่และควรจะปรับปรุงอะไร ทั้งหมดถือเป็นประโยชน์มาก เพื่อนำไปสู่การประกอบความเห็น เพื่อให้แน่ใจว่าจุดบอด จุดบกพร่องของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน
นายวิชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังเหลือเวลาอีก 5 วัน ที่เราจะต้องสรุปภาพรวมทั้งหมด เพื่อดูว่ามีประเด็นใดบ้างต้องแก้ไข แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดถึงการปฏิรูปกฎหมาย เพราะทราบว่านายกฯจะต่อเวลาให้อีก 30 วัน แต่ก็สุดแล้วแต่นายกฯจะตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากมีร่างกฎหมายรอผ่านการพิจารณาในสภาอยู่ คือ ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา และเมื่อจัดทำข้อสรุปไปแล้วอยู่ที่นายกฯจะเปิดเผยหรือไม่
นายวิชา กล่าวด้วยว่า ในการจัดทำข้อสรุปคดีนี้ นายกฯเห็นด้วยกับรายงานของเราที่บอกว่า การเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำสูงสุดขององค์กรต้องรับผิดชอบ จะไปสั่งการแล้วบอกว่าไม่ติดตามไม่ดูแลไม่ได้ แต่จะต้องลงลึกถึงตรงนั้น ส่วนจะรับผิดชอบแค่ไหน ต้องไปดูรายละเอียด เพราะเราพูดกันมากว่า ถึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดระเบียบ ก็อาจจะผิดจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่าหากผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกดำเนินการเหมือนกัน
เมื่อถามว่า กรณีบุคคลที่เข้าข่ายจริยธรรมมีกี่คน นายวิชา กล่าวว่า ยังแตกรายละเอียดอย่างนั้นไม่ได้ แต่รู้อยู่แก่ใจของเราว่ามีใครบ้างที่ควรจะต้องรับผิดชอบ แต่เราไม่ได้บอกว่าเขาผิด แต่เราจะบอกว่า การกระทำของเขา มันส่อ หรือมันแสดงเห็นพฤติกรรมได้ว่า มันเป็นเช่นนั้น สมควรที่จะดำเนินการให้หน่วยงานใดที่จะตรวจสอบต่อไป เพราะจะต้องไปตรวจสอบในเชิงลึก
เมื่อถามย้ำว่าในรายงานที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรี จะระบุชื่อบุคคลชัดเจนหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า มีทั้งบุคคล มีทั้งคนที่เกี่ยวข้อง
นายวิชา กล่าวถึงหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบตำรวจเชิญ พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผบก.กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงเรื่องการถอนหมายแดงจากตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ว่า ทางด้านต่างประเทศแสดงให้เห็นเลยว่า พอเขาแจ้งมาว่าให้ถอนหมายจับ พล.ต.ต.วรวัฒน์ ก็ได้ติดต่อ เพื่อขอให้ถอนหมายแดงจากอินเตอร์โพล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไม่มีหมายแดงแล้ว มีแต่หมายจับของไทย แต่ไม่ได้ดำเนินการในด้านต่างประเทศ ตนเชื่อว่า ต่อไปทางตำรวจที่จะดำเนินการออกหมายจับใหม่ คงจะประสานทางอินเตอร์โพลในการขอออกหมายแดงอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่า สรุปแล้วใครสั่งให้ถอนหมายแดง นายวิชา กล่าวว่า เขาอ้างว่าเป็นไปตามวิธีปฏิบัติ เมื่อได้รับแจ้งมาว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วก็ขอถอนหมายจับ ขณะนั้น ยังไม่ได้มีการยืนยันโดยอธิบดีอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ เกี่ยวกับเรื่องหมายจับ
เมื่อถามต่อไปว่ากระบวนการออกหมายจับครั้งใหม่ของนายวรยุทธ เป็นผลพวงมาจากคณะกรรมการฯชุดนี้ใช่หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ก็ใช่ เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้แจ้งกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง
เมื่อถามถึงการเชิญ พ.ต.อ.รณชัย รอดลอย ผกก.สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ มาชี้แจงเรื่องการเสียของนายจารุชาติ มาดทอง พยานคนำสคัญในคดีนี้ นายวิชา กล่าวว่า ทราบว่ามีการแยกคดีออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีอุบัติเหตุ ที่เขาไม่พบสิ่งผิดปกติ 2.กรณีพบสิ่งผิดปกติจากพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนหรือคนรอบข้างนายจารุชาติ ที่มาจากเรื่องของโทรศัพท์มือถือ ที่ได้ความว่าถูกทำลาย ที่ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่าถูกทำลายได้อย่างไร และอยู่ระหว่างการสอบรายละเอียดรวมถึงสอบเส้นทางการเงินด้วย
เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการประสานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายวิชา กล่าวว่า เราประสานไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ปปง. เพราะ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการที่จะต้องแจ้งให้ ปปง.รับทราบ เนื่องจากว่าจะมีผู้ร้องเรียนในเรื่องการทุจริตด้วย และจะประสานไปที่ ปปง. เพื่อดำเนินการต่อไป