ลำปาง ชู “น้ำปู๋” อัตลักษณ์

ลำปาง ชู “น้ำปู๋” อัตลักษณ์ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง หนุนเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น เตรียมเปิดตัวเทศกาล “กินปู ดูนา พาฟิน” ครั้งแรกของ จ.ลำปาง

ลำปาง ชู “น้ำปู๋” อัตลักษณ์ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง หนุนเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น เตรียมเปิดตัวเทศกาล “กินปู ดูนา พาฟิน” ครั้งแรกของ จ.ลำปาง  กิจกรรมดีๆที่ไม่ควรพลาด เทศกาลอาหารถิ่น-ท่องเที่ยววิถีเกษตร

จังหวัดลำปาง ร่วมกับอำเภอแจ้ห่ม และสำนักงานประมงจังหวัดลำปาง เตรียมจัดกิจกรรมเทศกาล “กินปู ดูนา พาฟิน” ครั้งที่ 1 ในวันที่ 11-12 กันยายน 2563 ที่ อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของ โครงการการสร้างรายได้เสริมจาการเลี้ยงปูนาและการเพิ่มมูลค่าสินค้าแปรรูปจากปูนา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยววัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจังหวัดลำปาง  จัดทำโดยสำนักงานประมงจังหวัดลำปาง เพื่อส่งเสริมต่อยอดการสร้างรายได้ให้เกษตรกร ที่ทำเกษตรปลอดภัย และได้ผลผลิตปูนาจากนาข้าวมาทำผลิตภัณฑ์  รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยววัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจังหวัดลำปาง

นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  ถ้าพูดถึงน้ำ.ปูคนลำปางก็จะรู้จัก อ.แจ้ห่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นตำรับในการทำน้ำปู แต่ปัจจุบันผลผลิตปูนาลดน้อยลง เพราะรูปแบบการทำนาเปลี่ยนไป ทำให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้น ปูนาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติจึงลดลง สำนักงานประมงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปูนา จึงนำเสนอวิธีการเลี้ยงปูนาให้กับเกษตรกร ให้มีรายได้เสริม และเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป  จึงได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดลำปาง เพื่อจัดทำโครงการสร้างรายได้เสริมจาการเลี้ยงปูนาและการเพิ่มมูลค่าสินค้าแปรรูปจากปูนา

โดยได้มีการคัดเลือกเกษตรกร อ.แจ้ห่ม จำนวน 40 ราย เป็นต้นแบบการเลี้ยงปูนาในรูปแบบต่างๆ  โดยได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยีเกษตร  ม.ราชภัฎลำปาง ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และได้ขยายผลการเลี้ยงปูนาไปอีก 13 อำเภอ ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 240 ราย  ในอนาคตถ้าเกษตรกรสามารถเลี้ยงปูนาให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จะนำไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่าย เป็นสินค้าโอทอป จ.ลำปาง  ประมงจังหวัดลำปาง กล่าวอีกว่า  นอกจากจะส่งเสริมการเลี้ยงปูนาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเน้นการส่งเสริมด้านการตลาด ให้เกษตรแปรรูปปูเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น ปูนาซอสกะเพรา ปูนาทอดกรอบสามรส น้ำพริกปูนาย่าง  น้ำพริกปูเปรี้ยวหวาน ปูนาดอง อ่องมันปูนาสมุนไพรฯลฯ  จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน อ.แจ้ห่ม  เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกทางหนึ่ง  และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สอดคล้องกับการอนุรักษ์พัฒนาอาหารถิ่น อ.แจ้ห่มอีกด้วย

ด้านนายยุทธพงศ์ ไชยศร  นายอำเภอแจ้ห่ม กล่าวว่า   ต้องขอบคุณประมงจังหวัดที่ได้นำโครงการระดับจังหวัดเข้ามาส่งเสริมในพื้นที่ อ.แจ้ห่ม โดยเฉพาะน้ำปู ซึ่งเป็นจุดขายของ อ.แจ้ห่ม การนำกิจกรรมนี้ขึ้นมาพัฒนาเกษตรกร และดึงดูดนักท่องเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยใน อ.แจ้ห่ม ถือเป็นโอกาสที่ดี   ซึ่งปัจจุบันปูนาธรรมชาติก็ยังมีอยู่บางส่วน แต่เกษตรกรรมบางชนิดก็มีการใช้สารเคมี ผู้บริโภคอาจจะลังเลใจในการอุปโภคบริโภค เพราะฉะนั้นทางจังหวัดจึงอยากจะให้ปูนาตามโครงการนี้ มีความปลอดภัยในการบริโภค และจัดทำเป็นสัญลักษณ์ปูแจ้ห่มปลอดสารพิษขึ้น นอกจากนั้น กิจกรรมกินปูดูนาพาฟินที่ อ.แจ้ห่ม ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงปูนาปลอดสารพิษแล้ว  ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใน อ.แจ้ห่ม เพื่อเชื่อมโยงการกินปูนา ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะน้ำปู ที่ใช้ปูนาแปรรูปได้  ซึ่งปูนานำมาทำอาหารได้หลายชนิดได้อร่อยมาก   และยังจะได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และอันซีนหลายแห่งใน อ.แจ้ห่มด้วย

นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  กล่าวว่า  โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปูนาฯ ที่เกิดขึ้น เป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ของ จ.ลำปาง และยังเป็นโครงการที่มีความสำคัญอีกโครงการหนึ่ง ที่มีการรวมตัวของ 3 เรื่อง มาบูรณาการร่วมกัน โดยเรื่องแรก คือ การส่งเสริมอาชีพ  เนื่องจากลำปางเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรโดยส่วนใหญ่ และมีการส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน  ไม่น่าจะเป็น การทำนา ปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว  รวมถึงการทำปศุสัตว์ และประมง  ปูนาถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่น่าสนใจทางภาคเหนือ  การส่งเสริมเลี้ยงปูนาก็เป็นการสร้างอาชีพต่อยอดให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง  ให้ปูนามีการแพร่หลายมากขึ้น   

เรื่องที่สองคือการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น  เมื่อผลผลิตออกมาก็จะเป็นอาหารของคน  อาหารแต่ละพื้นถิ่นจะมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป และถูกสรรค์สร้างขึ้นหลายหลายเมนู   ปูนาก็มีการนำมาแปรรูปให้เป็นอาหารอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ อ.แจ้ห่ม ก็คือการทำ “น้ำปู”  นำไปใช้ประกอบอาหาร เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน

 สุดท้ายคือเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว วิถีเกษตรก็สามารถนำมาส่งเสริมทางด้านนี้ได้ เพราะการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีเสน่ห์ของตัวเอง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสธรรมชาติ ต้นไม้ แหล่งน้ำ พืชผัก และสัตว์ จะได้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย นอกจากนั้นจะยังได้มีส่วนร่วม เช่น  การลงมือทำนาเอง การปล่อยปูนา ดูการเลี้ยงปูนา เป็นต้น  วิถีเกษตรยังต่อยอดท่องเที่ยวทำได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี  โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชน  นี่คือจุดโดดเด่นภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปูนาฯ  ซึ่งเป็นการนำสตอรี่มารวมกันส่งเสริมปูนาได้อย่างลงตัว  และเป็นโครงการนำร่องที่จะนำไปขยายผลการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่น ๆ ได้ต่อไป  

( ลำปาง ขวัญสุริยัน ศรีวิกูล /// ภาพ-ข่าว)                             

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม