เรือของพ่อ ต.91 อำลาท้องชลธี สู่ผืนปฐพี ปิดตำนานรับใช้ชาติ 5 ทศวรรษ เป็นอนุสรณ์อุทยานประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.63 กองทัพเรือ โดย พลเรือเอก ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการ กองเรือยุทธการ ได้ทำการเคลื่อนย้าย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91 ที่ถือเป็นเรือแห่งประวัติศาสตร์ ปลดประจำการไปแล้ว ขึ้นจากท้องชลธี สู่ผืนปฐพี ปิดตำนานการรับใช้ชาติ บนผืนธงแห่งราชนาวีไทย มายาวนานถึง 5 ทศวรรษ เพื่อขึ้นไว้ยังแท่นรองรับ บริเวณสถานที่จัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ “เรือ ต.91” ณ ริมชายหาด หน้าสโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
เรือ ต.91 เป็นเรือที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์การต่อเรือรบไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการออกแบบและต่อเรือ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2503 เมื่อพระองค์เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่กองทัพเรือว่า “กองทัพเรือควรต่อเรือประเภทนี้ใช้เองบ้าง” จนนำมาซึ่ง โครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91 ได้เสร็จสมบูรณ์ เข้าประจำการในปี พ.ศ.2511 โดยพระองค์ ได้เสด็จฯ มาประทับบนเรือ เพื่อทำการทดสอบสมรรถนะด้วยพระองค์เอง จากพระมหากรุณาธิคุณถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการต่อเรือใช้เองของกองทัพเรือ และประเทศชาติ จึงเปรียบได้ว่า เรือ ต.91 เป็นเรือของพ่อ
เรือ ต.91 มีประวัติการใช้ราชการยาวถึง 51 ปี ( 5 ทศวรรษ ) กระทั่ง กองทัพเรือ ได้พิจารณาเห็นว่า เรือมีสภาพทรุดโทรมมาก การซ่อมบำรุงไม่มีความคุ้มค่า จึงเสนอกระทรวงกลาโหมให้ปลดออกจากระวางประจำการ ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือควรจะอนุรักษ์เรือรบเก่าไว้ แล้วจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทหาร เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะชน ให้เป็นตำนานของกองทัพเรือ ที่แสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่าง พระมหากษัตริย์กับกองทัพเรือ และประเทศชาติ
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ เรือของพ่อ “เรือ ต.91” จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สืบสานพระราชปณิธานในการต่อเรือ เพื่อพึ่งพาตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งการเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง (Landmark) อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
ณัฐภูมินทร์ – พัชรพล ปานรักษ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี