ปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน

ปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ยืนยันสามารถควบคุมการระบาดของโรค PRRS ในพื้นที่ได้ และไม่มีการระบาดสู่มนุษย์ หากพบว่าสุกรเข้าข่ายป่วยจากโรคให้แจ้งปศุสัตว์ทันที

ปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ยืนยันสามารถควบคุมการระบาดของโรค PRRS ในพื้นที่ได้ และไม่มีการระบาดสู่มนุษย์ หากพบว่าสุกรเข้าข่ายป่วยจากโรคให้แจ้งปศุสัตว์ทันที

นายสุชาติ มูลสวัสดิ์ ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน  พร้อมด้วย นายรังสิทธิ์ ศิริคำ ปศุสัตว์อ.แม่สะเรียง นายมงคล เจริญ เมือง ปศุสัตว์ อ.แม่ลาน้อย ร่วมเดินทางลงพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงสุกรของเกษตรกรในพื้นที่ หมู่บ้านพะมอลอ  อ.แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน  เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ พร้อมเปิดเผยว่า เนื้อสุกรที่วางจำหน่ายในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงได้ผ่านขั้นตอนของการตรวจและควบคุมโรคก่อนวางขายในท้องตลาด ขอให้ประชาชนสบายใจได้ 

โดยชี้แจงในส่วนของสถานการณ์ของโรค PRRS  ขณะนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการระบาดของโรค PRRS ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงได้แล้ว และ ไม่มีการระบาดสู่มนุษย์แต่อย่างใด  ในพื้นที่ที่พบโรคของ 2 หมู่บ้าน ของ อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ได้ขอทำลายซากสุกรเป็นที่เรียบร้อยแล้วประมาณ 30 ตัว  โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 การสั่งกัก และ สั่งทำลาย พร้อมชดใช้การทำลายสัตว์เลี้ยงแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ตามระเบียบ 75 % ของราคา

เบื้องต้นได้ทำการชดเชยเงินช่วยเหลือ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รอบแรกประมาณ 600,000 บาท แต่ยังมีเกษตรบางส่วนที่ขอเลี้ยงต่อ ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำลาย เนื่องจากราคาสุกรในท้องตลาดมีราคาที่สูง  และ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เปลี่ยนใจและต้องการให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าทำลายซ้ำในส่วนที่เหลือ เจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทันที โดยเน้นย้ำ ห้ามนำซากสุกรที่ตายไปประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเชื้อโรคมีความรุนแรงสูง อาจติดไปกับภาชนะที่รองรับสุกร น้ำล้างอุปกรณ์ ส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง สำหรับมาตรการทางกฎหมาย ห้ามลักลอบขนย้ายสุกร ซากสุกร มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี / ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนายยุทธภูมิ ปู่น้อย ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สุกรทุกตัวในฟาร์มของตนยังปลอดภัย ไร้โรค เพราะได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด และได้ติดต่อสอบถามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างสม่ำเสมอ โดยห้ามคนนอกเข้าไปในบริเวณพื้นที่ฟาร์มสุกรที่เลี้ยงโดยเด็ดขาด ลดการนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม ได้มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในทุก 3 วัน โรยปูนขาวโดยรอบบริเวณโรงเรือนหรือคอกที่เลี้ยง  เปลี่ยนชุดที่ฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าสู่ฟาร์ม และตนเองมั่นใจในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการให้คำแนะนำ

สำหรับโรค PRRS  เป็นโรคหรือกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจในสุกร เกิดจากเชื้อไวรัส PRRS หรือในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจะเรียกว่า โรคเพิร์ส  เกิดจากการนำสุกรที่ติดเชื้อ หรือสุกรที่มีเชื้อโรคในตัวเข้าสู่ฝูง เชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาทางลมหายใจ อุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำเชื้อ จะติดโรคโดยการสัมผัส การดม การเลียสุกรตัวที่ป่วย และการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ สุกรยังสามารถติดเชื้อจากการสัมผัสที่ปนเปื้อนกับวัสดุอุปกรณ์ โรคนี้จะเกิดได้กับสุกรทุกรุ่น โดยจะแสดงอาการหายใจลำบาก นอนซึม ไข้สูง ผิวหนังแดงกว่าปกติ ไม่กินอาหาร โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่แนะนำให้ผู้เลี้ยงหมั่นดูแลทำความสะอาดคอก ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ชื้นแฉะ และเสริมวิตามินในอาหาร หมั่นสังเกตอาการป่วยของสุกรอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการป่วยให้แจ้งทาง กำนัน –ผญบ. หรือจนท.ปศุสัตว์ ในพื้นที่ทันที 

ชนานันท์ เง่าสุวรรณ์ จ. แม่ฮ่องสอน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม