ค้าน- ต่อต้านเหมืองทองคำ เมืองจันท์มี “หมอนทอง”บนดิน ไม่ต้องการให้ขุดแร่ทองใต้ดิน
ขุนพล ขุนศึก พ่ายพลชาย-หญิง สวมวิญญาณนักรบผู้กล้า ทยอยลงชื่อนัด “ วันที่ 9 เวลา 9 โมงเช้า” แผ่นดินพระเจ้าตากสิน รวมพล จะร้อนเยี่ยงไฟ ต่อต้าน คัดค้าน เหมืองแร่ทองคำ ผลกระทบ เส้นเลือดใหญ่ แหล่งต้นน้ำ ภาคเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต พังยับเยิน
จากกรณีที่ นายธนพล กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายรัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน ไทย – กัมพูชา นายเฉลิมพล ศักดิ์คำ ประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดจันทบุรี หรือ “หมอเทวดาเดินดิน” และนายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง นายศิริพงษ์ ศรีงาม นายกสมาคมกำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดจันทบุรี นายธีระ วงศ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี นายฐิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี และ ตัวแทนผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองท่าช้าง เข้าร่วมการประชุม หารือ ระดมความคิดเห็น ณ ห้องประชุมบุษราคัมองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ทุกฝ่ายเห็นพร้องชัดเจนว่า ชาวจันทบุรี ขอต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ และขอ คัดค้านอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำทั้งหมดในเขตพื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ (4 ก.ย.63)นายเฉลิมพล ศักดิ์คำ หรือ “หมอเทวดาเดินดิน”นายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง และประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดจันทบุรี ได้ให้เจ้าหน้าที่นำโต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก มาบริการประชาชนในการมีส่วนร่วมในการคัดค้าน และต่อต้านไม่ให้มีการขุดเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
ณ ตลาดเจริญสุข ได้มีพ่อค้า แม่ค้า ประชาชนทั่วไป ให้ความร่วมมือ ทยอยมาลงชื่อเพื่อสนับสนุนการคัดค้าน และต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีพิธีกร มาให้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบยิ่งใหญ่ ที่ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้รับ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นเส้นเลือดสายสำคัญในการหล่อเลี้ยง ให้ความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ในทุกสาขาอาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “อาชญาบัตรพิเศษ” หมายความว่า หนังสือสำคัญ ที่ออกให้เพื่อผูกขาดสำรวจแร่ภายในเขต ที่กำหนดในหนังสือสำคัญนั้น และผู้ยื่นคำขอต้องเสนอข้อผูกพันสำหรับการสำรวจ และต้องเสนอ ผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ “อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ” ที่ทาง บริษัท ริชภูมิ โมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นหนังสือคำและรับจดทะเบียนคำขอ ที่ 8/2549 และ9/2549 รวม 2 คำขอใน เนื้อที่ 14,650 ไร่ นั้น เป็นการใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ที่มีอำนาจเหนือ โดยไม่ต้องผ่านกระบวบการพิจารณา ตัดสินใจจากกรมป่า และกรมอุทยานแห่งชาติ แต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าการคัดค้าน ต่อต้านจะไม่สำเร็จ เหมืองแร่ทองคำ ที่ได้อาชญาบัตรพิเศษ เข้ามาดำเนินการได้ตาม พระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ได้ แต่ผลกระทบที่ชาวจังหวัดจันทบุรี และใกล้เคียงจะได้รับนั้น ยากต่อการแก้ไข และเยียวยา เหมือนกับพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่เกิดปัญหา ได้รับบทเรียนราคาแพงมาแล้ว ที่สำคัญ พื้นที่แก่งหางแมว เป็นแหล่งต้นน้ำ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ในการหล่อเลี้ยงภาคการเกษตร โดยเฉพาะ ทุเรียนหมอนทอง ที่มีชื่อชั้นติดระดับโลก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ชาวจังหวัดจันทบุรี จึงไม่ปรารถนาที่จะให้มีขุดทองคำใต้แผ่นดิน เพราะมีทุนเรียน “หมอนทอง”อยู่บนเดิน สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก ๆ ปี อยู่แล้ว
ทีมข่าวเฉพาะกิจ ภาคตะวันออก รายงาน