“บิ๊กชุม” เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด จากเด็กวัดกรรมกรเหมืองแร่ ก้าวสู่ตำแหน่งเกียรติยศ “ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ”

“บิ๊กชุม” เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด จากเด็กวัดกรรมกรเหมืองแร่ ก้าวสู่ตำแหน่งเกียรติยศ “ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ”

“บิ๊กชุม” เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด จากเด็กวัดกรรมกรเหมืองแร่ ก้าวสู่ตำแหน่งเกียรติยศ “ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ”

ชีวิตดั่งละคร “บิ๊กชุม” พลเรือเอก ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.)  ลำดับที่ 69 แห่งราชนาวีไทย จากอดีตลูกคนงานในเหมืองแร่ คุณพ่อจบ ป.3 คุณแม่จบ ป.2 เป็นเด็กวัดอาศัยข้าวก้นบาตร หาเงินเรียนหนังสือด้วยตนเอง ใช้ชีวิตเป็นกรรมกรแบกหามในเหมืองแร่ ผจญชะตาชีวิต ด้วยความรักชาติยิ่งชีพ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำอันทรงเกียรติ “ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ” คุมกำลังรบหลักของกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือรบผิวน้ำ เรือดำน้ำ กำลังอากาศนาวี และกำลังรบพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ก่อนเกษียณอำลาชีวิตรับราชการ ในปีพุทธศักราช 2563 ชีวิตนั้นเปรียบดังพระราชดำรัส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ว่า “เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ” 

พลเรือเอก ชุมศักดิ์ นาควิจิตร เกิดเมื่อ 5 เม.ย.2503 ณ บ้านเลขที่ 2/1 ม.4 ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นบ้านพักชั่วคราว ตั้งอยู่ในที่ดินของบริษัทหลวงอนุภาษ ซึ่งเป็นนายจ้างของคุณพ่อ มีพี่น้อง 10 คน ท่านเป็นคนที่ 5 พี่น้องส่วนใหญ่จบการศึกษาแค่ ป.4 หรือสูงสุดแค่การศึกษาภาคบังคับ โดยตัวท่านเองมีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงกว่าภาคบังคับ เพราะด้วยความดื้อรั้นไม่อยากเป็นแค่กรรมกรเหมืองแร่เหมือนพี่ ๆ แต่ก็ต้องไปใช้ชีวิตเป็นกรรมกรแบกหามในเหมืองแร่ เพื่อดิ้นรนหาเงินเรียนหนังสือ ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยตนเอง เนื่องจากไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนของรัฐได้ทัน ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเงินที่จะส่งเสียให้เรียน แต่ด้วยเป็นคนที่เรียนหนังสือดี มีผลการเรียนเทอมแรกเป็นที่น่าทึ่งของผู้บริหารโรงเรียน ทำให้ได้รับการพิจารณาไม่ต้องจ่ายค่าเทอม และอื่นๆ ที่หยิบยื่นมาให้เป็นพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.๓) ด้วยความรักที่มีต่อชาติแผ่นดิน ท่านมีความใฝ่ฝันและตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อเป็นทหารเรือ แต่ครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะส่งเสียให้เรียนได้ จึงได้รวมตัวกับเพื่อน ๆ หางานทำบริเวณขุมเหมืองเก่าหลังบ้าน ด้วยการดำน้ำลงไปขุดแร่ โดยการใช้เครื่องเป่าลมช่วยหายใจ มีหน้ากากครอบจมูกและใช้การหายใจทางปาก แต่สุดท้าย “หลวงพ่อ” ที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนที่โรงเรียนเก่าของท่าน พาเข้ามาหาที่ศึกษาต่อในกรุงเทพ โดยคุณแม่ได้ไปหยิบยืมเงินจากญาติให้ท่านติดตัวไปเพียง 3,800 บาท  โชคชะตาฟ้าลิขิต ให้ท่านได้มาเป็นทหารเรือดังปรารถนา เมื่อขณะนั้น โรงเรียนทหารเหล่าทัพต่าง ๆ ได้ปิดรับสมัครหมดแล้ว เหลือเพียง “นักเรียนจ่าทหารเรือ” เพียงแห่งเดียว สุดท้ายท่านก็สอบได้ พรรคนาวิกโยธิน ตามที่ต้องการ

จากชีวิตเด็กบ้านนอกสู่รั้วโรงเรียนทหาร มีความเป็นอยู่ดีกว่าอยู่ที่บ้านหลายเท่า เพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่าง กองทัพเรือ ออกให้ทั้งหมด มีอาหารให้รับประทานครบ 3 มื้อทุกวัน มีที่นอนเป็นฟูกนิ่ม ๆ มีมุ้งสี่เสา จากที่ไม่เคยมี จึงไม่รู้สึกถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด จากเด็กบ้านนอก ถูกหล่อหลอมกาย ใจ ชีวิต จนเป็นนักรบแห่งราชนาวีไทย อย่างเต็มความภาคภูมิ และด้วยผลการเรียนดี จึงถูกคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยไม่ต้องสอบ และขึ้นเหล่า จากเส้นทางจ่าทหารเรือ ก้าวขึ้นสู่การเป็นชั้นสัญญาบัตร นักเรียนนายเรือ

ชีวิตในโรงเรียนนายเรือ จบชั้นปีที่ 1 ด้วยระดับเกรดเฉลี่ย 3.4-3.5 อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเลือกไปเรียนต่อที่ โรงเรียนนายเรือต่างประเทศ แต่ไม่คิดที่จะไป จึงเรียนต่อในชั้นปีที่สอง และได้รับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าห้องเรียนมาตลอด เมื่อขึ้นชั้นปีที่ ๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้านักเรียนนายเรือ และสำเร็จการศึกษาเป็นว่าที่เรือตรี เมื่อ 31 ม.ค.2528 ได้รับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับสอง ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.34 (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งไม่มีใครได้รับ)

เมื่อสำเร็จการศึกษา ก้าวแรกสู่การรับราชการ ท่านเลือกไปอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหารกับเพื่อนอีก 3 คน ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนเตรียมทหารเป็นเวลา 1 ปี จากนั้น ได้รับการแต่งตั้งเป็น ต้นหน เรือหลวงวิทยาคม สังกัดกองเรือตรวจอ่าว และรับราชการเรื่อยมาด้วยความวิริยะอุตสาหะ เสงี่ยมเจียมตัว จากความใฝ่ฝันแค่ให้มีอาชีพติดตัวไม่ต้องไปเป็นกรรมกรเหมืองแร่เหมือนพี่ ๆ จนได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ถือเป็นระดับ 5 เสือ แห่งกองทัพเรือไทย และดำรงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตรับราชการ

ประวัติการรับราชการที่สำคัญ ต้นหน ร.ล.วิทยาคม ผู้ควบคุมเรือ ต.216 ผู้บังคับการเรือหลวงนาคา ผู้บังคับการเรือหลวงสู้ไพรินทร์ สังกัด กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ผู้บังคับการเรือหลวงคีรีรัฐ กองเรือปราบเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ เจ้ากรมการเงินทหารเรือ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

ชีวิตประสบความสำเร็จอย่างสูง จากเด็กวัดที่เติบโตในขุมเหมืองแร่ดีบุก จ.พังงา มีชีวิตที่ยืนอยู่บนเส้นด้ายของการศึกษา แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายทหารเรือ จนมีความเจริญก้าวหน้าสู่ชั้นยศ “พลเรือเอก” และที่สำคัญ ประดุจดั่ง ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ท่านได้เป็นนายทหารราชองครักษ์  (นรอ.) เข้าเฝ้าใกล้ชิดถึง 2 รัชกาล ได้สมรสกับ ร้อยโทหญิง กัลยกร นาควิจิตร ปัจจุบันยศ พันเอกพิเศษ มีบุตรแฝดชายหญิงที่น่ารัก 2 คน ที่มีเส้นทางการเจริญเติบโตของชีวิตและการศึกษาที่ดีกว่าคุณพ่อและคุณแม่ และสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้ ก่อนการเกษียณอายุราชการ คือ การที่ท่านและภริยาได้เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรแด่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาเจิมเรือหลวงภูมิพล เมื่อ 16 ต.ค.62

นอกจากนี้ ท่านได้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมให้กับกองทัพเรือ คือ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 28 ก.ค.63 ท่านได้จัดสร้างสวนรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณอ่างเก็บน้ำ กองเรือยุทธการ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่สัตหีบ การสร้างอาคารเอนกประสงค์ให้กับทัพเรือภาคที่ 2 การปรับปรุงศาล พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนยอดเขาแหลมปู่เจ้า ที่สง่างามสมพระเกียรติ และการจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ “เรือ ต.91” ให้เป็นอนุสรณ์สถานแด่ชาวทหารเรือ รวมทั้ง การปรับภูมิสถาปัตย์หน้าทางเข้า กองเรือยุทธการ ไว้อย่างสวยงามอลังการ สมเป็นหน่วยกำลังหลักทางเรือแห่งราชนาวีไทย ทั้งหมดนี้ เป็นเส้นทางจากต้นกำเนิดของชีวิต สู่ปลายทางแห่งเกียรติยศ พลเรือเอกชุมศักดิ์ นาควิจิตร เส้นทางที่ “เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ”

ณัฐภูมินทร์ ปานรักษ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม