วันที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่วัดเถรพลาย ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หลังเทศกาลงานออกพรรษา พุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ได้ร่วมกันสืบสานประเพณีตักบาตรขนมครก 8 สี หนึ่งเดียวของประเทศไทย เพื่อแก้บนหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตามตำนานเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านวัดเถรพลาย และ ชาว จ.สุพรรณบุรี มีความเลื่อมใสศรัทธา หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย อายุเกือบ 400 ปี ชาวบ้านมักจะบนบานศาลกล่าวหลวงพ่อโต ด้วยขนมครก เพราะเชื่อกันว่า ขนมครก เป็นคำที่สะกดด้วยตัวอักษร ค-ร-ก มีความหมายย่อมาจาก ขนม “คน-รัก-กัน” มีความเชื่อว่าอานิสงฆ์ของการตักบาตรขนมครก ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ ทุกหมู่เหล่า
ซึ่งใน ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านที่มีข้อข้องใจ ต้องอาศัยบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อบนบานศาลกล่าว เมื่อได้สมปรารถนาแล้ว แต่ยังติดที่อยู่ในพรรษากาลทำให้แก้บนไม่ได้ พอถึงเทศกาลงานออกพรรษา ชาวบ้านก็จะแก้บนหลวงพ่อโตด้วยขนมครก ในวันหลังจากออกพรรษาเป็นประเพณีสืบต่อกันมา โดยชาวบ้าน จะนำข้าวสารอาหารแห้ง พร้อมทั้งขนมครก 8 สี มาร่วมกันตักบาตร
พระครูพิสุทธิรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย พร้อมชาวบ้านและคณะกรรมการวัดเถรพลาย ได้ฟื้นฟูประเพณีตักบาตรขนมครก และได้ริเริ่มภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการทำขนมครก 8 สี ตามวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อเป็นการดึงดูดให้คนทั่วทั้งประเทศได้รู้จักชุมชนวัดเถรพลายให้มากยิ่งขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือนอำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มากยิ่งขึ้น
วัฒนพล มัจฉา/ พัฒนะ พัฒนศรี ผู้สื่อข่าว จ.สุพรรณบุรี