ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีสะเกษ หนุนเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ STV เรือยอร์ช เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีสะเกษเปิดเผยว่า จากการที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) โดยจะออกประกาศให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ตามที่กำหนดมีสิทธิ์ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว STV ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ภายใน 30 วันหลังจากมีประกาศบังคับใช้ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 สำหรับคุณสมบัติที่กำหนดของคนต่างด้าวที่มีสิทธิ์ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว STV มีดังนี้ เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา(เรือยอร์ช)ในกลุ่มผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ หรือผู้โดยสาร ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง ตามการจัดกลุ่มประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับการผ่อนคลายผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจะต้องยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และยินยอมกักตัวภายในเรือไม่น้อยกว่า 14 วัน พร้อมกับมีหลักฐานเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา นั้น
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวพิเศษ Special Tourist Visa ( STV)นักท่องเที่ยวต่างด้าวที่มากับเรือยอร์ชนั้น ตนเห็นด้วยที่เราจะเริ่มรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม High end ขอให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมให้ดี โดยให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้นักท่องเที่ยวยอมให้กักตัวภายในเรือไม่น้อยกว่า 14 วัน มีหลักฐานกรมธรรม์การทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคโควิด-19มีวงเงินที่เพียงพอหากมีการติดเชื้อและต้องรักษาตัว ตนเป็นเจ้าของบริษัทนำเที่ยวและจำหน่ายเครื่องบิน ตั้งแต่ต้นปี2563 ได้รับผลกระทบจาก โควิค-19 จึงกังวลมาตลอด แต่ดีใจที่ประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิค-19 ได้ดีมาก และชื่นชมที่คนไทยมีวินัยเชื่อฟังสวมหน้ากากอนามัยทำให้ลดการแพร่เชื้อได้มาก แต่คงจะเริ่มกังวลหากรับชาวต่างประเทศอีก จึงอยากให้ตรวจเชื้อไวรัสนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ และวันที่ถึงประเทศไทย และควรให้บันทึกการเดินทางโดยละเอียด ว่าไปไหนบ้างจะได้ตามแก้ได้ทันหากมีการติดเชื้อ
ดร.กัลยาณี กล่าวด้วยว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้ไทยเที่ยวไทย แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังต่ำมาก เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2562 มากเกือบ 40 ล้านคน และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยก็เพียง 1.1 ล้าน ๆ บาท เทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2 ล้านๆบาท จึงอยากให้ปล่อยนักท่องเที่ยวของประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีแล้วเข้ามาใช้จ่ายที่ประเทศไทย รับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นจีน เพราะรัฐบาลจีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ผลที่สุด คนจีนเดินทางไปเที่ยวมณฑลต่าง ๆได้อย่างเสรี จึงขอฝากรัฐบาลให้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำแบบจำกัดบริเวณเพื่อเป็นการทดลองก่อน และต้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้น ฉับไว หากควบคุมโรคได้ค่อยขยาย เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการจ้างงานผู้ที่ตกงานจากธุรกิจท่องเที่ยวได้ ส่วนนโยบายฟื้นฟูช่วยเหลือต้องบริหารจัดการในรูปบูรณาการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง และช่วยส่งเสริมชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนสามารถขับเคลื่อนต่อไป.
ภาพ-ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ. ศรีสะเกษ