โรงพักทุ่งคลี รุกโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา สู่ครัวโรงพัก”

โรงพักทุ่งคลี รุกโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา สู่ครัวโรงพัก”

              วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ปรีชา ทิมหอม ผกก.ฝอ.บก.สส.ภ.7 รรท.ผกก.สภ.ทุ่งคลี อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี  เปิดเผยว่าได้รับนโยบายจากส่วนกลางให้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา สู่ครัวโรงพัก”ตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตพลังงาน และสิ่งแวดล้อม วิกฤตสังคมไทย หนี้สินครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย คนว่างงาน ปัญหายาเสพติด สังคมผู้สูงอายุ ภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สภาพเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง ตำรวจภูธรภาค 7 ได้เล็งเห็นถึงความยากลำบากและผลกระทบดังกล่าวเป็นวงกว้าง จึงมอบหมายให้ ตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี จัดทำโครงการดังกล่าว ขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ และเพื่อใช้แนวทางเป็นจังหวัดนำร่องเพื่อให้ ตำรวจภูธรในสังกัด ตำรวจภูธร ภาค 7 ดำเนินการตามแบบอย่างต่อไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรในระดับพื้นที่  เพื่อสร้างแปลงต้นแบบความสำเร็จในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัวตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                พ.ต.อ.ปรีชา กล่าวต่อว่า โครงการโคกหนองนาโมเดล เป็นลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยเน้นพื้นที่ที่เป็นของในส่วนสถานีตำรวจ ในส่วนของ สภ.ทุ่งคลี ตนได้จัดโซน เลี้ยงไก่ไข่  เลี้ยงปลาดุก และปลูกผักสวนครัว โดยนำผลผลิตที่ไปประกอบอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแล ให้อาหารปลา อาหารไก่  รดน้ำผัก ขณะเริ่มมีผลผลิตแล้ว โดยเฉพาะผักสวนครัว เช่นชะอมไร้หนาม และไก่ไข่ ส่วนปลาดุกอีกประมาณ 3 เดือน จะสามารถจับไปประอาหาร เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจลักษณะเหมือนโครงการอาหารกลางวัน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวตำรวจอีกทางหนึ่ง ถือว่าเป็นโครงการที่ดีของรัฐบาลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติสนองนโยบาย เชื่อว่าทุกโรงสถานีตำรวจของจังหวัดสุพรรณบุรีทั้ง 16 สถานีฯมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของผลผลิตที่มีปริมาณมากยังสามารถนำไปขายหรือไปให้ครอบครัวตำรวจในราคาถูก และนำเงินมาหมุนเวียนซื้ออาหารสัตว์ ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักปลูกหมุนเวียนกันไปเชื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดขยายผลสู่ชุมชนในพื้นที่ให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนต่อไป

วัฒนพล มัจฉา/ พัฒนะ พัฒนศรี ผู้สื่อข่าว จ. สุพรรณบุรี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม