“นายกเอ๋” นำชาวเพชรบูรณ์ ร่วมทำพิธีสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี เพื่อความเป็นสิริมงคล

“นายกเอ๋” นำชาวเพชรบูรณ์ ร่วมทำพิธีสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี เพื่อความเป็นสิริมงคล

“นายกเอ๋” นำชาวเพชรบูรณ์ ร่วมทำพิธีสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี เพื่อความเป็นสิริมงคล

ตามที่เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์บูรณาการร่วมกับสภาวัฒนธรรมเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์  มูลนิธิศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์และพุทธศีลธรรมสมาคมผู้เสียสละเพชรบูรณ์ ได้จัดงานสมโภชเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ 1,000 ปี ขึ้นในระหว่างวันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2563 การนับเวลาอายุแท่งศิลานี้แบบปีชนปี นั้นคือมีการบันทึกว่ามีการแกะสลักครั้งแรก พ.ศ.1564 เมื่อระยะเวลาเวียนมาถึง พ.ศ.2563 ก็ครบวงรอบปีพอดี เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจุดรวมใจรวมศรัทธาของคนเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการแสดงจำหน่ายสินค้า OTOP มหรสพและคอนเสิร์ตจากศิลปินค่ายต่างๆ อีกมากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น.ของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันแรก ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาแท่นทีกง (เสามังกร) และจัดเครื่องเซ่นไหว้องค์เจ้าพ่อหลักเมืองสักการะทางจีน ซึ่งเป็นพิธีสำคัญใน 5 พิธี เพื่อเฉลิมฉลองสมโภชถวายองค์เจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ในการนี้องค์ฮ้อเซี๊ยโจ้ว ได้ลิขิตบทกลอน กีบุ๊ง อันเป็นมงคลถวายแด่องค์เจ้าพ่อหลักเมืองมีการแสดงมังกร สิงโต เฉลิมฉลองสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนอีกด้วย ต่อมาเมื่อเวลา 09.09 น.วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ในวันที่สอง ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ยังได้เป็นประธานในพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์งานสมโภชเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ 1,000 ปี ประจำปี 2563 โดยมีนายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ น.พ. ชัยวัฒน์  ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเป็นประธานในพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ ซึ่งเป็นอีกพิธีสำคัญใน 5 พิธี เพื่อฉลองสมโภชถวายองค์เจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ งานนี้มีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทั้งฝ่ายพลเรือน  ตำรวจ ตลอดจนพ่อค้า คหบดี และประชาชนชาวเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมประกอบพิธีอย่างพร้อมเพรียง ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์

ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่าจากการสืบค้นประวัติเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ จากการบันทึกการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุของกรมศิลปากรสันนิษฐานได้ว่าศิลาจารึกนี้ ครั้งแรกน่าจะถูกนำมาจากเมืองโบราณศรีเทพ มาไว้ที่วัดมหาธาตุก่อนหลังจากนั้นก็ได้นำมายกเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยหลวงนิกร เกียรติคุณ เมื่อพ.ศ. 2443 โดยได้เลือกนำมาปักไว้ที่ป้อมกำแพงเมืองโบราณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวกำแพงเมืองโบราณเพราะเป็นบริเวณที่อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2548 มีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองครั้งใหญ่ได้มีการค้นพบว่าเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นศิลาจารึกทำด้วยแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมนมีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด 184 เซนติเมตรกว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15 ถึง 16 เซนติเมตร ปลายฐานด้านล่างสุดมีลักษณะแผ่ขยายออกคล้ายวงกลมแบน กรมศิลปากรได้ทำการอ่าน และ แปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ สรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินใน 2 ยุคด้วยกัน คือครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ เป็นอักษรขอมโบราณภาษาสันสกฤต มีข้อความ 22 บรรทัด จารึกเมื่อมหาศักราช 943 ตรงกับพุทธศักราช 1564 เป็นข้อความการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนการจารึกครั้งที่สองเป็นการจารึกใหม่ในด้าน 3 ด้านที่เหลือเมื่อจุลศักราช 878 ตรงกับพุทธศักราช 2059 เป็นอักษรขอมภาษาไทยบาลีและเขมรเป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและมีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5,000 ปี

สำหรับการนับระยะเวลาอายุของแท่งหินที่เป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ที่เริ่มตั้งแต่มีการแกะสลักโดยมนุษย์ตั้งแต่มีการสลักหินออกมาเป็นแท่งจนถึงในการจารึกตัวอักษรบนแท่งหินในครั้งแรก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะใช้เวลายาวนานพอสมควร ไม่อาจกำหนดวันเดือนที่แน่นอนได้ จึงใช้การนับเวลาอายุแท่งศิลานี้แบบปีชนปี นั้นคือเมื่อมีการบันทึกว่ามีการแกะสลักครั้งแรก พ.ศ.1564 เมื่อระยะเวลาเวียนมาถึงพ.ศ.2563 ก็ครบวงรอบปีพอดี.

ภาพ-ข่าว ศุภเดช คำพุฒ / สมชาย  คำพุฒ ผู้สื่อข่าวประจำ จ.เพชรบูรณ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม